ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สื่อสาร - คมนาคม ย้อนกลับ
ไจก้าเสนอ"คมนาคม"สร้างรถไฟฟ้าสายใหม่ 6 เส้นทาง
28 พ.ค. 2561

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงคมนาคมได้เปิดเผยผลถึงการศึกษาขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) เกี่ยวกับแผนพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าเมืองหลวง ระยะที่ 2 (M-MAP2) โดยระบุว่า เส้นทางที่ควรจะพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าเฟส 2 เพื่อแก้ปัญหารถติดและรองรับการขยายตัวของเมืองหลวงมีทั้งสิ้น 6 เส้นทาง ประกอบด้วย

1.รถไฟฟ้าช่วงรังสิต-ธัญบุรี เชื่อมต่อรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงที่สถานีรังสิต 2.รถไฟฟ้าช่วงรามอินทรา-ลำลูกกา เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ลำลูกกา และเชื่อมรถไฟฟ้าสีเทาช่วงรามอินทรา-เอกมัย ที่สถานีรามอินทรา 3. รถไฟฟ้าช่วงบางนา-สนามบินสุวรรณภูมิ เชื่อมต่อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ที่สถานีสุวรรณภูมิ และเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สถานีบางนา

4.รถไฟฟ้าช่วงพญาไท-สถานีแม่น้ำ-บางนา 5.รถไฟฟ้าช่วงสถานีมักกะสัน-มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสาย สีน้ำตาลและสายสีเขียวที่บริเวณสี่แยกเกษตร และ 6.รถไฟฟ้าเชื่อมสถานีหลักช่วงบางหว้า-ตลิ่งชัน-นนทบุรี-บางกะปิ เป็นเส้นทางแบบวงกลมเชื่อมการเดินทางรอบนอกเมืองหลวง

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวไจก้าได้เสนอเป็นหลักการเบื้องต้นให้กระทรวงคมนาคมพิจารณานำเสนอรัฐบาลเพื่อรองรับแนวโน้มปริมาณการเดินทางในอีก 20 ปีข้างหน้า หรือในปี 2580 ที่จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 100% ตามการขยายตัวประชากรเมืองหลวงไปยังปริมณฑล 5 แห่ง ได้แก่ ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ และนครปฐม

ทั้งนี้ ปัจจุบันตัวเลขผู้โดยสารต่อเที่ยวต่อเส้นทางในชั่วโมงเร่งด่วนอยู่ที่ 6.8 หมื่นคน คาดว่าจะเพิ่มเป็น 1.57 แสนคน/ชั่วโมง/เส้นทาง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามแผนแม่บทพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้า ระยะที่ 2 ได้ทำการศึกษาไปแล้ว 80% คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือนนี้ จากนั้นในปี 2562 จะเริ่มสำรวจแนวเส้นทางรถไฟฟ้าใหม่ มั่นใจว่าสามารถออกแผนแม่บทได้ภายในรัฐบาลนี้ และจะส่งมอบแผนให้กับรัฐบาลชุดต่อไปศึกษาความเหมาะสมและก่อสร้างต่อไป

นายอาคม กล่าวอีกว่า หากโครงการใดได้ข้อสรุปและสามารถดำเนินการก่อนได้ก็จะเร่งดำเนินการให้สามารถเปิดให้บริการเชื่อมต่อโครงการให้สมบูรณ์เร็วขึ้น ซึ่งกรอบระยะเวลาการดำเนินการในปี 2562 จะสำรวจรายละเอียดแนวเส้นทางปี 2563 กำหนดแนวเส้นทาง จากนั้นสรุปข้อมูล รวมถึงศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและอนุมัติโครงการ และภายในปี 2564-2565 เริ่มต้นการก่อสร้าง

โดยแผนแม่บทฯ ระยะที่ 2 เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลของโครงข่ายหลักตามแผนฯ ระยะที่ 1 ซึ่งในอีก 2-3 ปี รถไฟฟ้า 10 สายในแผนระยะที่ 1 จะก่อสร้างได้ครบทั้งหมด ส่วนแผนระยะ 2 นั้นจะเป็นโครงข่ายย่อย เช่น สายสีทอง สายสีเทา ส่วนสายสีน้ำตาล ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษา

สำหรับทิศทางนโยบายและมาตรการสำคัญในการพัฒนาแผนแม่บท M-MAP 2 ประกอบด้วย 5 ด้าน คือ

1.เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยเพิ่มความสามารถในการรองรับการคมนาคมขนส่งของระบบขนส่งมวลชนในปัจจุบันให้สูงขึ้น เช่น การเพิ่ม ขบวนรถไฟฟ้า และความถี่ในการให้บริการ เป็นต้น 2.เพื่อส่งเสริมและพัฒนาโครงข่ายรถไฟในภาพรวมในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่ที่มีความต้องการการเดินทางสูงแต่โครงข่ายยังเข้าไม่ถึง, พัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้มีการเชื่อมโยงระหว่างศูนย์กลางเมืองและเมืองรอง เป็นต้น

3.เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงสถานี เช่น การพัฒนาจุดเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการเดินทาง (Inter-modal facilities) เพิ่มความสะดวก และความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ บูรณาการการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี 4.เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ โดยผู้โดยสารสามารถเข้าถึงข้อมูลการเดินทางได้อย่างสะดวก และ 5.เพื่อเพิ่มการเข้าถึงสนามบิน (Global gateways) โดยการจัดเตรียมแนวเส้นทางที่เหมาะสมในการเดินทางเข้าสู่สนามบิน, ลดระยะเวลาในการเดินทางไปสนามบิน เช่น จัดให้มีรถไฟขบวนด่วนพิเศษ เป็นต้น

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...