คมนาคม ลุยประมูลแหลมฉบังเฟส 3 วงเงิน 1.2 แสนล้าน ภายในปีนี้ หนุนการลงทุนอีอีซี ตั้งเป้าเป็นฮับการขนส่งติด1ใน 20 ท่าเรือที่ดีที่สุดในโลก
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนารับฟังความเห็นจากภาคเอกชนในโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ซึ่งอยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (อีอีซี) ว่า โครงการนี้เป็น 1 ใน 5 โครงการสำคัญในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ภายใต้วิสัยทัศน์ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ซึ่งกระทรวงคมนาคมกำลังเร่งพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังให้สามารถรองรับการขนส่งตู้สินค้าผ่านทางรถไฟและเพิ่มระบบจัดการขนตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ (Automation) เพื่อให้มีการเชื่อมต่อขนส่งสินค้าไปยังภูมิภาค ประเทศลาว เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา และประเทศจีนตอนใต้ ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการขนส่งและกระจายสินค้าที่สำคัญของภูมิภาค โดยตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) การขนส่งทางน้ำของภูมิภาค และยังเตรียมผลักดันให้ท่าเรือของไทยติดอันดับ 1 ใน 20 ท่าเรือ ที่ดีที่สุดในโลกอีกด้วย
สำหรับโครงการนี้จะใช้เงินลงทุนราว 1.2 แสนล้านบาท แบ่งการลงทุนออกเป็น 2 โครงการคือ 1. โครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานภายในท่าเรือ วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท ภาครัฐโดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) จะเป็นผู้ลงทุนขุดลอกร่องน้ำเดินเรือ และนำดินมาถมทำท่าเรือเบื้องต้น, ติดตั้งระบบไฟฟ้า, ประปา และก่อสร้างถนน
และ 2. โครงการพัฒนาท่าเรือและระบบการบริหารจัดการท่าเรือ วงเงิน 8 หมื่นล้านบาท จะเปิดให้นักลงทุนและผู้สนใจจากภาคเอกชน ทั้งจากภายในและต่างประเทศเข้าร่วมลงทุนในโครงการตามรูปแบบพีพีพี ซึ่งขณะนี้มีนักลงทุน สิงคโปร์ ญี่ปุ่นและจีนได้แสดงความสนใจ
“การพัฒนาแหลมฉบับเฟส 3 วงเงิน 1.2 แสนล้านบาทนั้น เป็นการเตรียมความพร้อมระบบสาธารณูปโภคและขนส่งเพื่อรองรับการลงทุนในอีอีซี ซึ่งในอนาคตจะมีการขยายตัวสูง ตั้งเป้าจะเปิดประมูลทั้ง 2 โครงการให้ได้ภายในปีนี้ เพื่อให้สามารถก่อสร้างได้ในปี 2562 ทันกับแผนพัฒนาพื้นที่อีอีซีของรัฐบาล”
อย่างไรก็ตาม หากท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 เปิดให้บริการ จะช่วยเพิ่มความสามารถในการขนส่งตู้สินค้าจาก 11.1 ล้านตู้ต่อปี เป็น 18.1 ล้านตู้ต่อปี ขนส่งรถยนต์ได้เพิ่มขึ้นจาก 2 ล้านคันต่อปีเป็น 3 ล้านคันต่อปี สัดส่วนสินค้าผ่านท่าโดยรถไฟทั้งหมดของท่าเรือแหลมฉบังจากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 30 ลดต้นทุนค่าขนส่งรวมของประเทศ (Logistics Cost) จากร้อยละ 14 ของ GDP เหลือร้อยละ 12 ของ GDP ประหยัดเงินค่าขนส่งได้ถึง 250,000 ล้านบาท สามารถเชื่อมต่อการขนส่งหลายรูปแบบ (Multimodal Transportation) ภายในพื้นที่ท่าเรือ สนับสนุนพื้นที่อุตสาหกรรมหลังท่าเรือที่เกิดขึ้นในพื้นที่ EEC และประเทศไทยในการเชื่อมต่อไปยังต่างประเทศแบบไร้รอยต่อ ทั้งทางด้านการขนส่งสินค้าแบบถ่ายลำเรือ (Transshipment) จากเรือขนสินค้าขนาดเล็ก (Feeder)ไปยังเรือแม่ขนาดใหญ่ หรือการเปลี่ยนการขนส่งสินค้าไปสู่ระบบราง ซึ่งเชื่อมต่อไปยังพื้นที่ประเทศลาว เวียดนาม กัมพูชา เมียนมาและประเทศจีนตอนใต้ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการขนส่งและกระจายสินค้าที่สำคัญของภูมิภาค
ด้านร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผอ.กทท. เปิดเผยว่า กทท. จะลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานบริเวณท่าเรือ วงเงินลงทุน 4 หมื่นล้านบาท ภายในในเวลา 5 ปี เบื้องต้นมีเงินสดในมือ 1 หมื่นล้านบาท พร้อมที่จะลงทุนแต่เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสภาพคล่องในช่วง 1-2 ปีแรก กทท. อาจจะมีระดมเงินทุนเพิ่มปีละ 1 หมื่นล้านบาท ด้วยการกู้เงินจากภายในประเทศ หรือออกพันธบัตรซึ่งต้องพิจารณารูปแบบที่เหมาะสมต่อไป สำหรับงานก่อสร้างส่วนนี้ กทท. จะใช้วิธีการเปิดประมูลหาผู้รับเหมาตามกฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง คาดว่าจะได้ตัวผู้ชนะการประมูลและลงนามสัญญาในเดือนก.พ. 2562
ส่วนงานโครงการพัฒนาท่าเรือและระบบการบริหารจัดการท่าเรือ วงเงิน 8 หมื่นล้านบาท จะเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน พัฒนาท่าเรือให้พร้อมใช้งานทั้งรถยนต์และท่าเรือคอนเทนเนอร์, ติดตั้งอุปกรณ์และระบบไอที พร้อมจัดหาบุคลากรเข้ามาทำหน้าที่บริหารจัดการ คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในเดือนก.ค. และได้ตัวผู้ชนะการประมูล และลงนามในสัญญาในเดือนพ.ย.-ธ.ค. นี้ ทั้งนี้ ตั้งเป้าที่จะเปิดให้บริการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ในระยะแรกให้ได้ภายในปี 2568
ร.ต.ต.มนตรี กล่าวว่า แหลมฉบังเฟส 3 มีพื้นที่รวมกว่า 1,600 ไร่ ประกอบด้วยท่าเทียบเรือตู้สินค้าจำนวน 4 ท่า ความยาวรวม 4,420 เมตร และลานกองเก็บตู้สินค้าแอ่งจอดเรือลึก 18.5 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลางสามารถรองรับการขนถ่ายสินค้าประเภทตู้ได้ถึง 7 ล้าน TEU ต่อปีท่าเทียบเรือชายฝั่ง (Domestic) 1 ท่า มีขีดความสามารถรองรับตู้สินค้า 1 ล้าน TEU ต่อปี และท่าเรือขนส่งรถยนต์ 1 ท่า สามารถรองรับการขนถ่ายสินค้าประเภทรถยนต์ได้ถึง 1 ล้านคันต่อปี รวมถึงสามารถรองรับการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟได้ 4 ล้าน TEU ต่อปีหรือคิดเป็น 30% ของการขนส่งตู้สินค้าทั้งหมด จึงเริ่มก่อสร้างในปี 2562
ทั้งนี้ เมื่อท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 เปิดให้บริการ จะช่วยเพิ่มความสามารถในการขนส่งตู้สินค้าจาก 11.1 ล้านตู้ต่อปี เป็น 18.1 ล้านตู้ต่อปี ขนส่งรถยนต์ได้เพิ่มขึ้นจาก 2 ล้านคันต่อปีเป็น 3 ล้านคันต่อปี สัดส่วนสินค้าผ่านท่าโดยรถไฟทั้งหมดของท่าเรือแหลมฉบังจาก 7% เป็น 30% ลดต้นทุนค่าขนส่งรวมของประเทศ (Logistics Cost) จาก 14% ของจีดีพี เหลือ 12% ของจีดีพี ประหยัดเงินค่าขนส่งได้ถึง 250,000 ล้านบาท สามารถเชื่อมต่อการขนส่งหลายรูปแบบ (Multimodal Transportation) ภายในพื้นที่ท่าเรือ สนับสนุนพื้นที่อุตสาหกรรมหลังท่าเรือที่เกิดขึ้นในพื้นที่อีอีซี และประเทศไทยในการเชื่อมต่อไปยังต่างประเทศแบบไร้รอยต่อ ทั้งทางด้านการขนส่งสินค้าแบบถ่ายลำเรือ (Transshipment) จากเรือขนสินค้าขนาดเล็ก (Feeder) ไปยังเรือแม่ขนาดใหญ่ หรือการเปลี่ยนการขนส่งสินค้าไปสู่ระบบราง ซึ่งเชื่อมต่อไปยังพื้นที่ประเทศลาว เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา และประเทศจีนตอนใต้ ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการขนส่งและกระจายสินค้าที่สำคัญของภูมิภาค