นางสุวัฒนา กมลวัทนนิศา รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ตามมติคณะกรรมการ กนอ. เห็นชอบให้ กนอ. มีมติเห็นชอบการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในลักษณะร่วมดำเนินงาน นิคมฯ โรจนะแหลมฉบัง จ.ชลบุรี บนเนื้อที่ประมาณ 843 ไร่ ซึ่งจะร่วมดำเนินงานกับบริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) โดยนิคมฯ ดังกล่าวจะถูกพัฒนาภายใต้แนวคิดอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเบาที่ทันสมัย ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิเช่น อุตสาหกรรมอิเลคทรอนิคส์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร และอุตสาหกรรมการแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์แบบครบวงจรเป็นต้น สำหรับมูลค่าการลงทุนของโครงการ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 2,700 ล้านบาท โดยมีจุดเด่นอยู่ที่ทำเลที่ตั้งของโครงการ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เป้าหมายโครงการ EEC ทำให้ผู้ประกอบการสามารได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้มาตรการส่งเสริมของ EEC และมีนิคมฯ ใกล้เคียงในรัศมี 50 กิโลเมตร กว่า 5 นิคมฯ เพื่อเป็นการรองรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่มีความสนใจในพื้นที่และมีนิคมฯ ใกล้เคียงในรัศมี 50 กิโลเมตร กว่า 5 นิคมฯ เพื่อเป็นการรองรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่มีความสนใจในพื้นที่ โดยนิคมฯ ดังกล่าวมีการใช้ประโยชน์ที่ดินโครงการแบ่งเป็น เขตอุตสาหกรรม ร้อยละ 72.94 พื้นที่ระบบสาธารณูปโภค ร้อยละ 16.00 และพื้นที่สีเขียวร้อยละ 11.06 ทั้งนี้ การพัฒนาโครงการคาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี และคาดว่าจะสามารถขายพื้นที่หมดภายในระยะเวลา 3 ปี คาดว่าจะก่อให้เกิดรายได้กว่า 3,400 ล้านบาท
นางสุวัฒนา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้หลังจากที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี มีการประกาศใช้เป็นกฎหมาย การนิคมฯ ในฐานะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว จึงได้เร่งดำเนินการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่มีประสิทธิภาพเพื่อรองรับการลงทุนและการดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยขณะนี้ความคืบหน้าในการดำเนินงานดังกล่าว มีประเด็นดังต่อไปนี้
1.ด้านการจัดสรรที่ดิน ระบบสาธารณูปโภค และสิ่งแวดล้อม กนอ. ได้มีการสนับสนุนผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก และระบบสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการลงทุนจากภาคอุตสาหกรรมเพิ่มเติม พร้อมด้วยการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการด้านเขต/สวนอุตสาหกรรมเดิม ดำเนินการยกระดับพื้นที่ของตนเองให้เข้าสู่การเป็นนิคมอุตสาหกรรม เพื่อพิจารณาสู่การเป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมต่อไป นอกจากนี้ยังได้มีการจัดหาที่ดินเพื่อรองรับการลงทุนเพิ่มเติมอีกประมาณ 11,000 ไร่ ทั้งในจังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง และจังหวัดฉะเชิงเทรา รวมถึงวางแผนด้านการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในนิคมฯ ให้เป็นไปตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมตามรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ของ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดยจะเน้นในเรื่องกระบวนการลดมลพิษ การรองรับปริมาณและการกำจัดขยะอุตสาหกรรม รวมถึงเร่งพัฒนาให้นิคมฯ มีความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศมากขึ้น
2.ด้านการให้บริการ กนอ. ได้มีการดำเนินการร่วมกันกับ สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ในการจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร One Stop Service เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนที่สนใจดำเนินการในพื้นที่ EEC ที่จะมีความรวดเร็วและครบวงจร อาทิ การพัฒนาระบบอนุมัติอนุญาตทางอิเล็กทรอนิกส์ในเขตประกอบการเสรี เพื่อลดขั้นตอนการผ่านพิธีการศุลกากรสำหรับสินค้าเข้า – ออก เพื่อช่วยประหยัดต้นทุนและเวลาในการดำเนินธุรกรรมของผู้ประกอบการ ตลอดจนศูนย์ SME – ITC ที่จะช่วยให้กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้รับองค์ความรู้ และเทคโนโลยีใหม่ๆที่ทันสมัยจากผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่ ต่อเนื่องถึงการเชื่อมโยงเพื่อเป็นฐานการผลิตระหว่างกันต่อไป
3.การเร่งพัฒนาเมกะโปรเจกต์ เพื่อเป็นฐานรองรับการผลิต การลงทุน ซึ่งได้แก่ ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ซึ่งในเดือนมิถุนายนนี้จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนแบบเฉพาะรายอีกหนึ่งครั้ง ทั้งในเรื่องของรูปแบบการร่วมลงทุน ความต้องการในด้านสิ่งอำนวยความสะดวก สาธารณูปโภค รวมถึงสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ ส่วนอีกหนึ่งโครงการที่สำคัญคือ โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เพื่อรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และดิจิทัล อยู่ในช่วงสรุปผลการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยคาดว่าเร็วๆนี้ จะทราบผลดังกล่าว และเดินหน้าประชาสัมพันธ์ให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศได้ทราบถึงข้อมูลที่สำคัญต่อไป
4.การพัฒนานิคมฯ ใหม่เพื่อรองรับการลงทุน ในขณะนี้มีผู้ประกอบการในพื้นที่ EEC สนใจส่งเรื่องจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในลักษณะร่วมดำเนินงาน กับ กนอ. จำนวนรวมแล้วไม่น้อยกว่า 15 ราย ซึ่ง กนอ. กำลังอยู่ในระหว่างพิจารณา
5.การส่งเสริมด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพราะนวัตกรรมและเทคโนโลยี และระบบต่างๆที่เป็นดิจิทัล เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยดึงดูดการลงทุนในอีอีซีอย่างมีนัยสำคัญ เช่นการพัฒนานิคมฯ Smart Park ให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่รองรับการลงทุนในธุรกิจอุตสาหกรรมด้านดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีอันทันสมัย พร้อมกันนี้ กนอ.ได้ศึกษาการนำระบบเทคโนโลยีประมูลจากเมืองโอตะมาใช้ในระเบียงฯผลไม้ และยังจะมีการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆให้มีความทันสมัย เช่น สิ่งก่อสร้างประหยัดพลังงาน ระบบ IoT ที่จะเชื่อมต่อกับเครื่องมือต่างๆและการติดตั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง รวมถึงการส่งเสริมกำลังคนด้านดิจิทัลและนวัตกรรม จากการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยกลุ่มบิ๊กบราเธอร์ ที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่จากไทยและต่างประเทศภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ SME - ITC
นอกจากนี้ กนอ. ยังมีมาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการให้ได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมนอกเหนือจาก สิทธิประโยชน์การลงทุนของบีโอไอ ด้วยการลดหย่อนภาษีนิติบุคคล 50% เพิ่มอีก 5 ปีจากเกณฑ์ปกติ ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ ที่ได้มีการประกาศ 21 นิคมอุตสาหกรรม เป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้ช่วยดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวมากขึ้น และยังส่งผลให้ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมหลายรายสนใจยื่นเรื่องขอจัดตั้งเป็นเขตส่งเสริม และได้มีนิคมฯ ที่ได้รับการประกาศเป็นเขตส่งเสริมอีกหลายแห่ง อย่างไรก็ตาม ในการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย จะมีการใช้พื้นที่สำหรับโครงการลงทุนน้อยกว่าโครงการลงทุนทั่วไป เพราะมีระดับเทคโนโลยีสูงกว่า ซึ่ง กนอ. มั่นใจว่าจะสามารถพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการของนักลงทุนในพื้นที่ EEC อย่างแน่นอน
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจรายละเอียด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองประชาสัมพันธ์ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถนนนิคมมักกะสัน กรุงเทพฯ โทร. 02 2530561หรืออีเมล investment.1@ieat.mail.go.th