ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สื่อสาร - คมนาคม ย้อนกลับ
"ดีอี"หนุนเอกชนตั้งสภาดิจิทัลแห่งชาติ พร้อมรับมือก.ม.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
04 มิ.ย. 2561

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้เปิดเผยว่า กระทรวงดีอีมีนโยบายที่จะตั้งหน่วยงานในสังกัดเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิทัล หรือดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม ได้แก่ สถาบันวิเคราะห์และบริหารข้อมูลภาครัฐ เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษา สนับสนุนการวิเคราะห์ การฝึกอบรมหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้การวิเคราะห์ข้อมูลภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ หรือรองรับนโยบายบิ๊กดาต้า

                นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมการอิเล็กทรอนิกส์ (องค์กรมหาชน) หรือ สพธอ. ไปจัดตั้งศูนย์คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และศูนย์มั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งจะต้องทำงานคู่ขนานไปกับการออกฎหมาย พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.... ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงทางไซเบอร์ พ.ศ.... มีผลบังคับใช้ โดยกฎหมายทั้ง 2 ฉบับอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เมื่อ ครม.อนุมัติ ก็ต้องส่งต่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในช่วงปลายปีนี้ ขณะเดียวกันยังได้มอบหมายให้ สพธอ.ไปพิจารณายกระดับฐานะองค์กรใหม่ด้วย

นายพิเชฐ กล่าวว่า ขณะนี้ได้เสนอให้ภาคเอกชนจัดตั้งสภาดิจิทัลแห่งชาติให้เทียบเคียงกับสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าไทย และสมาคมธนาคารไทย โดยเอกชนด้านดิจิทัลที่มีการรวมตัวกันถึง 19 องค์กรอยู่แล้ว ควรจะรวมตัวกันเป็นสภาดิจิทัลแห่งชาติให้ได้ เพื่อรวมกันขับเคลื่อนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. ได้จัดงานเสวนา “ร่างกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและผลกระทบจาก GDPR เราควรเตรียมพร้อมอย่างไร” เพื่อให้ความรู้กับทั้งภาครัฐและเอกชนเกี่ยวกับกฎหมาย GDPR (General Data Protection Regulation) ของสหภาพยุโรปที่จะมีผลบังคับใช้ 25 พ.ค. 2561 และอาจจะมีผลกระทบกับผู้ประกอบการไทย เนื่องจากมีข้อกำหนดเกี่ยวกับคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของพลเมืองสหภาพยุโรป แม้จะอยู่นอกประเทศ

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ในประเทศไทยให้ความสำคัญด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลรวมถึงการนำข้อมูลเพื่อมาใช้ในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมด้วย โดยกำลังอยู่ในกระบวนการยกร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่จะต้องสร้างสมดุลอย่างเหมาะสม ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างรอบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ก่อนส่งเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

โดยในระหว่างที่รอการประกาศใช้กฎหมาย จึงได้มอบหมายให้ สพธอ. ตั้งหน่วยงานเพื่อขับเคลื่อนในด้านนี้ไปพร้อมกัน ทั้งในแง่การให้ความรู้กับสาธารณะและการเตรียมยกร่างกฎหมายลูกต่างๆ คือ ศูนย์การเรียนรู้ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (DPKC)

“กฎหมายที่ออกมาอาจจะไม่ได้ตามที่ทุกฝ่ายต้องการ 100% แต่จะพยายามให้มีจุดร่วมเพื่อสร้างระบบข้อมูลดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ โดยมีระบบการดูแล ป้องกันข้อมูลในโลกดิจิทัลและเยียวยาหากเกิดความเสียหายอย่างไร”

ด้านนางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สพธอ. กล่าวเสริมว่า ไม่น่าเกิน 1 เดือนร่างกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของไทยน่าจะเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ขณะที่การเตรียมพร้อมรับมือ GDPR ของผู้ประกอบการไทยเป็นสิ่งจำเป็น ทั้งด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวชาวยุโรปที่เดินทางเข้ามาในประเทศหลายล้านคน และการค้าขายข้ามแดนที่เติบโตสูง รวมถึงบทลงโทษจากการฝ่าฝืน GDPR ที่สูงมาก

ดังนั้น ผู้ประกอบการควรออกแบบระบบดูแลข้อมูลเพื่อให้สอดคล้องกับข้อยกเว้นที่กำหนดไว้ใน GDPR ทั้งในแง่ของการประเมินความเสี่ยง การสร้างมาตรการป้องกัน ซึ่งทาง สพธอ.จะมีการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นแนวทางปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลได้ที่ www.etda.or.th/dpkc

อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการเตรียมการไซเบอร์แห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบการจัดกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศของประเทศออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มความมั่นคงและบริการภาครัฐกลุ่มการเงิน กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคมกลุ่มการขนส่งและโลจิสติกส์กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภคและกลุ่มสาธารณสุขพร้อมยกระดับแผนการทำงานร่วมกัน

ขณะที่เรื่องการจัดตั้งศูนย์ความร่วมมืออาเซียนญี่ปุ่นเพื่อพัฒนาบุคลากรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ นายพิเชฐ เปิดเผยว่า ได้ให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดตั้งศูนย์ โดยได้รับการสนับสนุนจากประเทศญี่ปุ่นทั้งด้านงบประมาณและองค์ความรู้ต่างๆทำให้สามารถดำเนินการฝึกอบรมให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ยังมีความจำเป็นในการดำเนิน โครงการเร่งรัดการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์กว่า 1,000 คน ที่ผ่านการรับรองจากหน่วยงาน Cll ภาครัฐเอกชนและสถาบันการศึกษา ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ ETDA ทำหน้าที่หน่วยประสานงานกลางเป็นการชั่วคราวระหว่างจัดตั้ง Cyber Security Agency เพื่อรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์และทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลดความเสี่ยงจากการถูกโจมตี

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...