ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ACMECS ครั้งที่ 8 วันที่ 14 - 16 มิ.ย.นี้ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เผยจะมีการเสนอแผนขับเคลื่อนการค้า การลงทุนฉบับใหม่ 5 ปี เน้นการเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างสมาชิก 5 ประเทศในทุกด้าน หวังสร้างการเติบโตไปพร้อมกัน และช่วยดึงดูดการค้าและลงทุนเข้ามายังภูมิภาคเพิ่มขึ้น
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา - แม่โขง (Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy : ACMECS) ครั้งที่ 8 ระหว่างวันที่ 14 - 16 มิถุนายน 2561 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาน นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม และมีผู้นำจากประเทศสมาชิก ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม เข้าร่วมการประชุม
โดยในการประชุมครั้งนี้ ประเทศสมาชิกทั้ง 5 ประเทศ จะมีการรับรองแผนแม่บท ACMECS ฉบับใหม่ (ACMECS Master Plan 2019 - 2023) และปฏิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration) เพื่อแสดงเจตนารมณ์และแนวทางความร่วมมือในการพัฒนาภูมิภาคร่วมกันของประเทศสมาชิก ได้แก่ การเสริมสร้างความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อในอนุภูมิภาค การสอดประสานด้านเศรษฐกิจ และการพัฒนาภูมิภาคอย่างยั่งยืนและมีนวัตกรรม
ซึ่งภูมิภาคนี้มีจุดแข็งของแต่ละประเทศในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง กำลังซื้อและศักยภาพการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลก ทำให้ ACMECS ก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตและตลาดผู้บริโภคกว่า 240 ล้านคน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของภูมิภาคอาเซียนที่เชื่อมโยงบนแผ่นดินเดียวกัน
“กระทรวงฯ จะมุ่งส่งเสริมและอำนวยความสะดวกทางด้านการค้า การลงทุน และอุตสาหกรรม ตามแนวทางของแผนแม่บท ACMECS ฉบับใหม่ ให้ประเทศสมาชิกสามารถสร้างความร่วมมือด้านต่างๆ และพัฒนาเชื่อมโยงประเทศในภูมิภาค เพื่อให้ ACMECS เป็นศูนย์กลางการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนและมีนวัตกรรม ซึ่งจะช่วยดึงดูดการค้าและการลงทุนเข้ามายัง ACMECS ได้เพิ่มขึ้น และส่งผลให้ประเทศในกลุ่ม ACMECS มีการเติบโตไปพร้อมๆ กัน”
สำหรับ ACMECS เป็นกรอบความร่วมมือระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม รวมเป็น 5 ประเทศ ก่อตั้งขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์จากความแข็งแกร่งและความหลากหลายของประเทศสมาชิกให้เกิดการเชื่อมโยงและพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้สาขาความร่วมมือต่างๆ เช่น การอำนวยความสะดวกทางด้านการค้าและการลงทุน ความร่วมมือด้านการเกษตร การเชื่อมโยงการคมนาคม เป็นต้น
ปัจจุบันคณะทำงานสาขาการอำนวยความสะดวกทางด้านการค้าและการลงทุน (Working Group on Trade and Investment Facilitation : WGTIF) ภายใต้ยุทธศาสตร์ ACMECS ที่กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศเป็นผู้รับผิดชอบ ได้มีการประชุมคณะทำงานฯ และมีการติดตามความก้าวหน้าของโครงการความร่วมมือต่างๆ ใน ACMECSทั้งที่เป็นโครงการความร่วมมือเดิม โครงการใหม่ และโครงการที่ทำขึ้นระหว่างไทยกับสมาชิก โดยได้มีการจัดทำรายชื่อโครงการที่มีศักยภาพในด้านการค้า การลงทุน และอุตสาหกรรม เพื่อร่วมมือกันขับเคลื่อนแล้ว
ส่วนการค้าของไทยกับกลุ่มสมาชิก ACMECS ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด จาก 11,360.60 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2550 เป็น 35,754.60 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2560 ซึ่งเติบโตถึง 3 เท่า หรือขยายตัวกว่าร้อยละ 215