การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เพิ่มการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำประปา ลดความเสี่ยงน้ำประปาปนเปื้อนสารเคมีตกค้างจากภาคเกษตรกรรม ประชาชนสามารถใช้น้ำประปาในการอุปโภคบริโภคได้อย่างมั่นใจ
นายสมชาย มนต์บุรีนนท์ รองผู้ว่าการ (วิชาการ) รักษาการแทนผู้ว่าการ กปภ. เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีภาคเกษตรกรรมเป็นพื้นฐานที่สำคัญทางเศรษฐกิจ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีการใช้สารเคมีในกระบวนการ ซึ่งสารเคมีเหล่านั้นอาจถูกชะล้างและไหลลงสู่แหล่งน้ำดิบที่ใช้เพื่อการผลิตน้ำประปาได้ อย่างไรก็ตาม กปภ.ยังคงห่วงใยประชาซนในพื้นที่ที่ต้องสัมผัสกับสารเคมีทางการเกษตร โดยเฝ้าระวังและปรับปรุงกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับคุณภาพน้ำดิบที่เปลี่ยนแปลงด้วย 2 มาตรการ ดังนี้
1. การเฝ้าระวังคุณภาพน้ำดิบและน้ำประปาของ กปภ.
- ระดับ กปภ.สาขา มีการเฝ้าระวังแหล่งน้ำ โดยสังเกตจากสภาพแวดล้อมภายนอกและทดสอบคุณภาพน้ำตามที่กำหนดในคู่มือกระบวนการผลิตน้ำประปาและควบคุมคุณภาพน้ำเป็นประจำทุกวัน และส่งตัวอย่างน้ำดิบและน้ำประปาให้กับห้องปฏิบัติการในสังกัด กปภ.เขต และห้องปฏิบัติการกองควบคุมคุณภาพน้ำ (กคน.) หรือ ห้องปฏิบัติการภายนอกในภาวะที่มีวิกฤต
- ระดับห้องปฏิบัติการ สังกัด กปภ.เขต ทดสอบทางด้านกายภาพ-เคมี และ แบคทีเรีย เป็นประจำทุกเดือน และสารเป็นพิษโลหะหนักเป็นประจำทุกปี
- ระดับห้องปฏิบัติการ กปภ.สำนักงานใหญ่ (กคน.) ทดสอบด้านสารเป็นพิษ หากเป็นรายการที่ทดสอบไม่ได้จะส่งต่อห้องปฏิบัติการภายนอก
กรณีที่พบสารตกค้างจากภาคเกษตรกรรม จะเพิ่มการปรับปรุงคุณภาพน้ำดิบด้วยการเติมถ่านกัมมันต์ เพื่อกำจัดสารปนเปื้อนก่อนเข้าสู่กระบวนการตกตะกอนในน้ำดิบ
2. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนในการสร้างความเข้าใจและ ตระหนักถึงการลดใช้สารเคมีทางการเกษตร เพื่อให้ประชาชนลดความเสี่ยงด้านสุขภาพของตนเองและ ครอบครัว กปภ.เขตและสาขาได้ร่วมเป็นภาคีเครือข่ายของจังหวัด รณรงค์ให้ความรู้เชิงวิชาการด้านคุณภาพน้ำ ร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ และหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องในการจัดทำแผนการดำเนินงานร่วมกัน เช่น การปรับเปลี่ยนชนิดพืชที่ใช้น้ำและสารเคมีน้อยลง การใช้สิ่งมีชีวิตหรือสารสกัดจากพืชในการกำจัดวัชพืชหรือแมลงทดแทนการใช้สารเคมีเพื่อความปลอดภัยของเกษตรกรเอง ทั้งนี้ นอกจากในส่วนภูมิภาคที่ได้ร่วมมือกับระดับจังหวัดแล้ว ในส่วนกลางก็ยังมีการร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น กรมควบคุมมลพิษ กรมวิชาการเกษตร และกรมอนามัย เป็นต้น