กรมการค้าต่างประเทศประกาศโค้งสุดท้ายสำหรับผู้ประกอบการที่ใช้สิทธิ GSP นอร์เวย์และสวิตเซอร์แลนด์รีบขึ้นทะเบียนระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง (REX) เพื่อให้สามารถใช้สิทธิได้ต่อเนื่อง หลัง 1 ก.ค.นี้เป็นต้นไป จะไม่มีการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าให้กับผู้ส่งออกอีกต่อไป ชี้ REX ช่วยให้การส่งออกสะดวก รวดเร็วขึ้นไม่ต้องมาเสียเวลาติดต่อราชการ เพียงแค่รับรองตนเองก็ส่งออกฉลุย
นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 เป็นต้นไป จะมีการเปลี่ยนวิธีการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าภายในระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ของสวิตเซอร์แลนด์และนอร์เวย์ โดยกำหนดให้การส่งออกสินค้าที่ใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ระบบภาษีศุลกากร (GSP) ส่งออกไปยังสวิตเซอร์แลนด์และนอร์เวย์นั้น ผู้ส่งออกไทยจะต้องใช้ระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของผู้ส่งออก หรือ Registered Exporter (REX) system อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลที่จัดทำโดยคณะกรรมาธิการยุโรป เพื่อให้ผู้ส่งออกลงทะเบียนในระบบฐานข้อมูลดังกล่าวแล้วสามารถรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองในการส่งออกสินค้าไปใช้สิทธิภายใต้ระบบ GSP สวิตเซอร์แลนด์และนอร์เวย์แทนที่จะใช้ระบบของ Form A รูปแบบเดิม และจะไม่มีการผ่อนผันอีกต่อไป
“ระบบ REX เป็นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยลดขั้นตอนการดำเนินการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้งไม่ต้องเสียเวลามาติดต่อกับกรมฯ และที่สำคัญ คือ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายและขั้นตอนในการดำเนินการส่งออก จึงขอเชิญชวนผู้ที่ส่งสินค้าไปยังตลาดสวิตเซอร์แลนด์และนอร์เวย์ และผู้ที่มีแผนจะส่งสินค้าไปยัง 2 ประเทศดังกล่าวในอนาคตให้มาขึ้นทะเบียนเป็น Registered Exporter เพื่อให้สามารถรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองได้
โดยกรมฯ ได้เริ่มให้บริการระบบ REX system มาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2560 เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ส่งออกของไทย ซึ่งมีผู้ส่งออกมาลงทะเบียนแล้วจำนวนหนึ่งแต่กรมฯ อยากจะเตือนถึงผู้ส่งออกที่ยังไม่ลงทะเบียน แต่เป็นผู้ส่งออกที่ใช้สิทธิ GSP ส่งออกไปยัง 2 ประเทศนี้ ให้รีบมาลงทะเบียนกับกรมฯ ก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม ศกนี้ เพื่อให้สามารถรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองได้ จากนั้นไม่ต้องมาขอและใช้ Form A อีกต่อไป ทำให้ประหยัดเวลา ค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนในการส่งออก และช่วยให้สินค้าไทยมีแต้มต่อ เมื่อเทียบกับสินค้าของคู่แข่ง” นายอดุลย์กล่าว
นายอดุลย์กล่าวเพิ่มเติมว่าทั้งนี้ หลังจากรับรองตนเองแล้ว จะต้องมั่นใจว่าสินค้าที่ส่งออกไปผลิตได้ถูกต้องตามกฎถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ระบบ GSP สวิตเซอร์แลนด์และนอร์เวย์ เพื่อป้องกันการถูกตรวจสอบย้อนหลังจากศุลกากรของทั้ง 2 ประเทศ และหากไม่มั่นใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าหรือขั้นตอนการขึ้นทะเบียน ผู้ส่งออกสามารถติดต่อขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ของกรมฯ เพื่อขอคำปรึกษาในเรื่องนี้ได้ โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองสิทธิประโยชน์ทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ โทรศัพท์ 0 2547 4771–86 ต่อ 4755 โทรสาร 0 2547 4816 หรือ e-mail: tpdft@moc.go.th