นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งเพิ่งรับตำแหน่งมีผลตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2568 แต่ก่อนหน้าเคยเป็นกรรมการในบอร์ดและรักษาการ ผู้ว่าการ กนอ.อยู่แล้ว
ดังนั้นการสานงานต่อจึงไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก แต่โจทย์ที่เปลี่ยนไป ประเทศไทยไม่ได้เผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจด้านเดียว แต่ปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไข คือ “นิคมศูนย์เหรียญ” ที่พบการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ตั้งตัวเป็นนายหน้าเพื่อปล่อยเช่าให้กับนักลงทุนต่างชาติเข้ามาตั้งกิจการแบบผิดกฎหมาย หนำซ้ำกรณีภาษีทรัมป์ที่เรียกเก็บภาษีจากไทยสูงถึง 36% กำลังเป็นตัวสกัดการลงทุนจากต่างประเทศ บางรายมีแผนย้ายฐานไปประเทศเพื่อนบ้านที่มีโอกาสดีกว่าไทย แล้วบทบาทภารกิจของ กนอ.จะรับมือแก้ไขอย่างไร
งานแรกปราบนิคมเถื่อน
ผมเตรียมนโยบายและแผนงานไว้ทั้งหมดแล้ว เป้าหมายหลักที่จะดำเนินการทันที คือ การปราบนิคมอุตสาหกรรมเถื่อนที่มีอยู่กว่า 10 แห่ง ซึ่งเราต้องดูกฎหมายว่า นิคมเหล่านี้ดำเนินการถูกต้องหรือไม่ ถ้าอยู่ภายใต้กฎหมายของ กนอ. ก็จะเรียกว่านิคมอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันถ้าพื้นที่ตั้งอยู่บริเวณนอก หมายความว่าไม่สามารถใช้ชื่อนิคมอุตสาหกรรมได้ และ กนอ.ไม่สามารถเข้าไปควบคุม ซึ่งพบว่ามีบางรายที่ดำเนินการอย่างผิดกฎหมาย
ดังนั้น เราอยากให้นิคมเถื่อนเหล่านี้เข้ามาอยู่ในนิคม เพราะว่าเราจะได้ดูแลและประเมินผลกระทบต่อประชาชน ซึ่ง กนอ.มีการเข้าไปพูดคุย ตักเตือนทุกครั้งที่เจอ พร้อมอบรมด้านกฎหมายเพื่อให้เข้าใจกฎหมายของไทย มีบางส่วนก็ทยอยเข้ามาอยู่ภายในนิคมแล้ว ก็เป็นอุตสาหกรรมทั้งไทยและต่างชาติ
นอกจากนี้จะเข้าไปบริหารจัดการวงจร “นิคมศูนย์เหรียญ” เพื่อให้ไทยได้ประโยชน์จากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) อย่างแท้จริง และต้องจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ดึงสิ่งแวดล้อมมาสร้างอุตสาหกรรมเพื่อสังคม สร้างความยั่งยืนด้านพลังงานสะอาด นวัตกรรมเพื่อไปสู่เทรนด์ในอนาคต สร้างเศรษฐกิจใหม่ และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ โดยให้ความสำคัญกับความสะดวก สะอาดและโปร่งใสในการดูแลผู้ประกอบการ
หลังจากนี้ กนอ.จะเป็นเครื่องจักรที่จะเหยียบคันเร่ง ความท้าทายเหล่านี้จะต้องเดินควบคู่กัน เพราะประเทศไทยไม่เคยเจอวิกฤตขนาดนี้มาก่อน รวมถึงเผชิญความท้าทายจากสงครามการค้าและเศรษฐกิจโลก
พัฒนาพื้นที่เป้าหมาย 50,000 ไร่
ในอนาคต บอร์ด กนอ.ตั้งใจว่าจะเร่งรัดกระบวนการจัดตั้งนิคมให้มากขึ้น เพราะหากเรามีจำนวนนิคมมากขึ้น จะทำให้เรามีโอกาสในด้านการลงทุนและส่งผลให้ราคาที่ดินถูกลง เราต้องลดกระบวนการขออนุญาตให้เสร็จภายใน 1 ปี จากเดิมขั้นตอนทุกอย่างกว่าจะตั้งนิคมได้ใช้เวลาถึง 2 ปี และเราต้องพัฒนาเรื่องของบริการ One Stop Service พัฒนากำลังคน รวบรวมข้อมูลทุกอย่างที่นักลงทุนต้องรู้เพื่อเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจ
ขณะเดียวกัน เร่งพัฒนาพื้นที่เป้าหมาย (Land Bank) ให้ได้ 50,000 ไร่ภายในปี 2568 ตอนนี้ดำเนินการสำเร็จไปแล้ว 30,000 ไร่ อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการเพิ่มอีก 20,000 ไร่ ควบคู่กับการเพิ่มที่ดินอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่เป้าหมาย 1,000,000 ไร่ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงภาคประชาชนให้ถูกลง
ซึ่งขณะนี้อุตสาหกรรมมีความต้องการถึง 200,000 ไร่ หากไม่เร่งเปิดหน้าดิน เราจะเสียเปรียบเพื่อนบ้านที่กำลังดึงดูดนักลงทุนเหมือนกัน ไม่ใช่แค่เวียดนาม แต่ยังมีอินโดนีเซีย และที่น่ากลัวตอนนี้ คือ มาเลเซีย ปีนี้ กนอ.จึงต้องลดเป้ายอดขาย/เช่าพื้นที่เหลือ 8,000 ไร่ จาก 10,000 ไร่ เพราะหลายปัจจัยทำให้ทุกอย่างชะงัก ส่วนหนึ่งก็จะมาจากการตั้งนิคมไม่ได้เพราะติดผังเมืองด้วย
เล็งร่วมทุนเอกชนตั้งนิคม
ขณะนี้พื้นที่ในเขต EEC เริ่มเต็มแล้ว ขยายก็ยาก และราคาที่ดินสูงมาก จังหวัดปราจีนบุรีที่กำลังจะเป็นส่วนหนึ่งของ EEC จึงถูกเล็งไว้ว่า เป็นอีกพื้นที่ที่จะก่อตั้งนิคมใหม่เพื่อรองรับการลงทุน เท่าที่ทราบตอนนี้ผู้พัฒนานิคมรายใหญ่ ๆ รวบรวมพื้นที่กันหมดแล้ว อีกไม่นานเราจะเห็นพื้นที่ที่มีศักยภาพแห่งใหม่ ส่วน กนอ.เองคงไม่ลงไปเล่นในลักษณะนั้น เพราะเราไม่สามารถซื้อที่ได้ทันเอกชน ด้วยกระบวนการการใช้เงินของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจะค่อนข้างนาน
อย่างไรก็ตาม กฎหมายเปิดช่องให้ กนอ.สามารถเข้าไปร่วมลงทุนกับเอกชนได้ ซึ่งอนาคตอาจจะได้เห็นการร่วมทุน เพราะยิ่งเรามีพื้นที่รองรับไว้มาก นักลงทุนก็ยิ่งสนใจ ส่วนรูปแบบการร่วมทุนคงไม่ใช่การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชน (PPP) เพราะ PPP ระบุไว้ว่า จะต้องเป็นโครงการเพื่อบริการสาธารณะที่ให้ประชาชนมาใช้บริการ เช่น โครงการสร้างถนน โรงพยาบาล รถไฟ
“สุราษฎร์ฯ-นคร” นิคมฮาลาล
สำหรับการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล (Halal Industrial Estate) ก็เป็นอีกภารกิจที่สานต่อจากแผนเดิม เป้าหมายต้องการให้เป็นนิคมที่มุ่งเน้นการผลิต แปรรูปสินค้าและบริการตามหลักศาสนาอิสลาม เราได้รับมอบหมายจากรัฐบาล และตอนนี้ กนอ.ได้ศึกษาพื้นที่เป้าหมาย คือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ซึ่งเราได้ไปดูแนวคิดโครงการพัฒนาท่าเรือในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) โดยจะหารือกับกระทรวงคมนาคมเรื่องท่าเรืออุตสาหกรรมเพิ่มเติม ขณะเดียวกันได้ศึกษาความเป็นไปได้ของอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสูงสุด
สร้างโซลูชั่นตอบโจทย์เทรนด์อุตฯ
ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทาย กนอ.มองว่า เราจำเป็นต้องสร้างโซลูชั่นตอบสนองกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความแตกต่างกัน การออกแบบกลยุทธ์โปรดักต์ของ กนอ. ให้สอดคล้องกับนักลงทุนอุตสาหกรรมแต่ละประเทศจึงมีความสำคัญ วันนี้เราจะเห็นว่ามีอุตสาหกรรมใหม่เกิดขึ้นเร็วมาก ต้องมีแผนรองรับการเข้ามาในนิคมของอุตสาหกรรมเหล่านั้น เช่น การย้ายที่ดินนอกนิคมที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคม ให้เข้ามาในนิคมมากขึ้น การออกแบบโปรดักต์ใหม่ ออกแบบมาตรการส่งเสริมการลงทุนพิเศษ (Tax Incentive) เพื่อลดต้นทุนการย้ายฐานการผลิต
รวมถึงพัฒนากำลังคนและนำ AI มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วย ซึ่งเราจะไม่เพียงแค่จัดหาที่ดิน แต่จะเน้นสร้างความสะดวกสบาย ส่งเสริมพลังงานสะอาดบนพื้นที่กว่า 73 นิคม เพื่อสร้างโอกาสการลงทุนและลดต้นทุนที่ดิน
ผมเองอายุ 48 ปี ได้รับแต่งตั้งเป็นบอร์ด กนอ. ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2567 และทำหน้าที่รักษาการผู้ว่าการ กนอ. เมื่อเดือน ก.ย. 2567 แทนนายวีริศ อัมระปาล ที่ลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. ผมผ่านประสบการณ์เป็นผู้บริหารภาคเอกชนหลายแห่ง และได้รับการทาบทามเพื่อเสนอชื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง กรรมการ (บอร์ด) และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในหลายหน่วยงานภาครัฐ ที่นี่ผมจะมีวาระ 4 ปี โดยต้องผ่านการประเมินผลการปฏิบัติงานโดยคณะกรรมการ กนอ. ปีละ 2 ครั้ง และเมื่อครบกำหนดตามสัญญาจ้างแล้ว อาจจะได้รับการพิจารณาแต่งตั้งเป็น ผู้ว่าการ กนอ. ต่อได้อีกวาระ
Cr : ขอบคุณบทสัมภาษณ์จาก“ประชาชาติธุรกิจ”