นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ครั้งที่ 3/2561 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2561 ณ ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม โดยมี พลอากาศเอกจอม รุ่งสว่าง ผู้บัญชาการทหารอากาศ นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมการประชุม โดยนายอาคม กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีมติดังนี้
1. เห็นชอบกำหนดอายุของอากาศยานที่จะจัดหามาเพื่อใช้ประกอบการขนส่งสินค้าจาก 18 ปี เป็น 22 ปี เพื่อเพิ่มโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการจัดหาอากาศยานมาใช้ประกอบธุรกิจการขนส่งสินค้าทางอากาศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับผู้ประกอบการต่างชาติ รองรับการขยายตัวในธุรกิจการขนส่งสินค้าทางอากาศและเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศในอนาคต
โดยปัจจุบันการขนส่งสินค้าทางอากาศได้ขยายตัวมากขึ้นตามความต้องการจัดส่งสินค้าอย่างรวดเร็วของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ จากการคาดการณ์ใน 20 ปีข้างหน้า อุปสงค์ของการขนส่งสินค้าทางอากาศในภูมิภาคเอเชียจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2 เท่าของปัจจุบัน ดังนั้น จึงควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขนส่งทางอากาศของไทยสามารถจัดหาอากาศยานที่มีความเหมาะสมมาให้บริการเพื่อรักษาฐานการให้บริการนี้และสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางด้านการบินของประเทศ
2. อนุมัติแผนแม่บทการจัดตั้งสนามบินพาณิชย์ของประเทศ (พ.ศ.2561-2580) National Airport Master Plan แผนดังกล่าวจะทำให้ทราบว่ามีท่าอากาศยานใดบ้างที่จะต้องปรับปรุงในระยะ 20 ปีข้างหน้า โดยจะใช้สำหรับท่าอากาศยานเชิงพาณิชย์เท่านั้น ซึ่งมีท่าอากาศยานที่จะต้องดำเนินการขยาย ได้แก่ ท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งที่ 2 และท่าอากาศยานภูเก็ตแห่งที่ 2 ทั้งนี้ กระทรวงฯ จะเสนอแผนแม่บทฯ ให้คณะรัฐมนตรีรับทราบต่อไป
3. อนุมัติการปรับปรุงแผนการรักษาความปลอดภัยในการบินพลเรือนแห่งชาติ ตามที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) ได้ตรวจสอบตามโครงการตรวจสอบด้านการรักษาความปลอดภัยด้านการบินพลเรือน (Universal Security Audit Programme Continuous Monitoring Approach : USAP-CMA) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 และขอให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) แก้ไขแผนฯ ให้สอดคล้องกับภาคผนวกที่ 17 แห่งอนุสัญญาชิคาโก ค.ศ. 1944 ซึ่ง กพท.จะรายงานให้ ICAO ทราบต่อไป
ด้านนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า ปัจจุบันการหาเครื่องบินเพื่อนำมาใช้ในการขนส่งสินค้านั้นค่อนข้างลำบาก โดยตลาดจะมีเครื่องบินโดยสาร รุ่นโบอิ้ง 737 ปลดระวาง อายุเกิน 18 ปี ดัดแปลงและให้เช่าต่อ ดังนั้น ข้อกำหนดเดิมอายุไม่เกิน 18 ปีเป็นข้อจำกัด จึงขยายอายุเป็น 22 ปี เพื่อให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ได้ง่ายขึ้น ก่อนที่จะถูกต่างชาติแย่งไป และทำให้แข่งขันได้ เนื่องจากตลาดการขนส่งสินค้าทางอากาศมีแนวโน้มการเติบโตสูง และมีกำไรดีกว่าการขนส่งผู้โดยสาร ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการไทยที่ให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศเพียงรายเดียว คือ เค-ไมล์ แอร์ และมีอีก 1 รายที่อยู่ระหว่างการ Re-AOC
สำหรับแผนแม่บทการจัดตั้งสนามบินนั้นเป็นกรอบในรอบ 20 ปี ซึ่งจะทำให้เห็นภาพความต้องการสนามบินเพิ่มซึ่งพบว่า ในรอบ 20 ปี จะต้องสนามบิน 2 แห่ง คือ เชียงใหม่แห่งที่ 2 และภูเก็ตแห่งที่ 2 ซึ่ง บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท.จะศึกษารายละเอียดการลงทุนต่อไป นอกจากนี้ จะมีแผนในการขยายขีดความสามารถสนามบินที่มีอยู่เดิม ทั้งในความรับผิดชอบของ ทอท.และกรมท่าอากาศยาน (ทย.) โดยหลังจากกระทรวงคมนาคมจะเสนอ ครม.เพื่อรายงานเพื่อทราบต่อไป
ส่วนกรณีการแผนรักษาความปลอดภัยในการบินพลเรือนแห่งชาตินั้น เป็นการปรับปรุงแผนตามความเห็นของ ICAO และเสนอให้กบร.อนุมัติ แผนที่แก้ไขและจะแจ้งต่อ ICAO ต่อไป ซึ่งครั้งนี้จะทำให้สามารถปิดข้อบกพร่องที่เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยได้ทั้งหมด ทั้งนี้ ประเด็นที่ต้องแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นรวม 49 ข้อนั้น เบื้องต้นดำเนินการได้เกือบหมด เหลือในส่วนของการออกใบอนุญาตสำหรับผู้ตรวจอาวุธ ซึ่งจะมีกระบวนการในการตรวจสอบและใช้เวลาสักระยะ
อย่างไรก็ตาม ในการด้านการรักษาความปลอดภัยจะเกี่ยวข้องกับสนามบิน สายการบิน ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับแผน ส่วนที่จะเกี่ยวข้องกับผู้โดยสาร เช่น การพกพาสิ่งของติดตัวขึ้นเครื่องบิน ได้แก่ ข้อกำหนดเดิม กรรไกร มีดโกน ที่มีความยาวต่ำกว่า 6 ซม.สามารถนำติดตัวเครื่องบิน ซึ่งมาตรฐานสากลทำได้ แต่ที่ผ่านมาไทยห้ามเพราะกำหนดเข้มข้นกว่า ซึ่งหลังจากนี้สายการบินและสนามบินจะปรับปรุงคู่มือใหม่ต่อไป