คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีมติเห็นชอบการดำเนินงานของหน่วยงานตามมาตรการหรือแนวทางของ กสม. ตามรายงานผลการตรวจสอบที่ 211/2560 เรื่อง สิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขและสวัสดิการจากรัฐ อันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิและสถานะบุคคล กรณีขอให้มีการตรวจสอบและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนสำหรับบุคคลที่มีภาวะเพศกำกวม
สืบเนื่องจาก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 มีผู้ร้องเรียนต่อ กสม. ขอให้ตรวจสอบกรณีกล่าวอ้างว่า ผู้ร้องเป็นบุคคลที่มีภาวะเพศกำกวม มีความประสงค์ที่จะเข้ารับการตรวจพิสูจน์ว่าตนเองมีภาวะเพศกำกวมหรือไม่ เพื่อยื่นเรื่องขอเปลี่ยนคำนำหน้านาม แต่ไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากแพทย์ยังไม่สามารถวินิจฉัยเพื่อยืนยันภาวะเพศกำกวมได้ ทำให้ผู้ร้องไม่มีหลักฐานประกอบการพิจารณาขอเปลี่ยนคำนำหน้านาม
กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า ประเทศไทยมีการออกกฎหมาย ระเบียบ และแนวปฏิบัติในการให้สิทธิบุคคลที่มีภาวะเพศกำกวมสามารถเปลี่ยนคำนำหน้านามให้ถูกต้องและสอดคล้องกับเพศสภาพในปัจจุบันของบุคคลดังกล่าวได้ อีกทั้งยังให้สิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลและสิทธิในการเข้าถึงยาประเภทต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการบำบัดรักษาภาวะเพศกำกวมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งถือเป็นการคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่มีภาวะเพศกำกวมให้ได้รับการยอมรับจากสังคม รวมทั้งใช้สิทธิต่าง ๆ ได้เช่นเดียวกับบุคลทั่วไป อย่างไรก็ดี ในกรณีนี้ผู้ร้องยังไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นบุคคลที่อยู่ในภาวะเพศกำกวมในอันที่จะได้รับสิทธิในการบริการสาธารณสุขและการเปลี่ยนแปลงแก้ไขทะเบียนบุคคล ดังนั้น เพื่อสิทธิประโยชน์ที่ผู้ร้องพึงมีพึงได้ กสม. จึงอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 15 (5) ส่งเรื่องให้องค์กรอื่นที่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาดำเนินการ และมีผลการดำเนินงานตามแนวทางของ กสม. ดังนี้
1) กสม. ขอให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ผู้ร้องรับการวินิจฉัยอยู่แล้ว พิจารณาตรวจวินิจฉัยว่าผู้ร้องเป็นบุคคลที่มีภาวะเพศกำกวมหรือไม่ ตามวิธีการทางการแพทย์ตามสภาพความเป็นจริง ต่อมา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีหนังสือแจ้งกลับเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2560 ระบุว่า ยินดีตรวจวินิจฉัยให้กับผู้ร้องแล้ว
2) กสม. ขอให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พิจารณากรณีกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTI) ซึ่งเข้าข่ายเป็นบุคคลที่มีภาวะเพศกำกวม หรือ มีเพศสรีระมากกว่าหนึ่งเพศ (Intersex) ตามที่แพทย์ให้การรับรองแล้ว สามารถดำเนินการผ่าตัดแปลงเพศของตนตามคำรับรองของแพทย์โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาตามสิทธิหลักประกันสุขภาพที่บุคคลดังกล่าวพึงมีตามกฎหมาย และเพื่อคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่ผ่านการผ่าตัดแปลงเพศ หรือ คนข้ามเพศ (Transgender) ในระยะยาว อาจให้ได้รับสิทธิในการผ่าตัดเพื่อปรับเปลี่ยนร่างกายตามความรู้สึกของตนเองให้ตรงตามเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ โดยอาศัยสิทธิตามหลักประกันสุขภาพ
ต่อมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีหนังสือแจ้งกลับเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2560 ระบุว่า บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTI) ที่เข้าข่ายบุคคลที่มีภาวะเพศกำกวม ที่จะผ่าตัดเพื่อการรักษาให้ตรงกับเพศสภาพตามที่แพทย์ให้การรับรอง จัดอยู่ในประเภทและขอบเขตของการบริการสาธารณสุขที่บุคคลมีสิทธิได้รับตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ส่วนกรณีที่บุคคลซึ่งผ่านการผ่าตัดแปลงเพศแล้ว หรือ คนข้ามเพศ (Transgender) นั้น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะรวบรวมข้อมูลนำเสนอต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อพิจารณาประกาศกำหนดให้เป็นประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุขที่บุคคลจะมีสิทธิได้รับตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 5 วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ต่อไป
ดังนี้แล้ว กสม. จึงเห็นควรยุติการติดตามผลการดำเนินการกรณีดังกล่าว ตามระเบียบ กสม. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน พ.ศ. 2561 ข้อ 60 (1) กรณีที่บุคคลหรือหน่วยงานได้ดำเนินการตามมาตรการหรือแนวทางของ กสม. ทั้งหมดหรือบางส่วนที่เป็นสาระสำคัญแล้ว