ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
เกษตรกรรมแบบยั่งยืน ความหมายและรูปแบบ .... (ตอนจบ)
19 ก.ค. 2561

เกษตรกรรมแบบยั่งยืน ได้นำเสนอมาแล้ว 3 ตอน โดยตอนแรกเป็นเรื่องของความหมาย ตอนที่ 2 และ 3 เป้นเรื่องของรูปแบบที่นำเสนอมาแล้ว 7 รูปแบบ ส่วนในตอนตจบนี้ จะเป็นรูปแบบที่ 8 และ 9 พร้อมบทสรุป

............................................................................

8. เกษตรอินทรีย์ (Organic farming)

เกษตรอินทรีย์เป็นระบบการเกษตรที่ผลิตอาหารด้วยความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ โดยเน้นหลักการปรับปรุงบำรุงดิน เคารพต่อศักยภาพทางธรรมชาติของพืช สัตว์ และระบบนิเวศ ลดการใช้ปัจจัยการผลิตจากภายนอก และไม่ใช้สารเคมีเพื่อการเกษตร ทั้งปุ๋ยเคมี ยากำจัดวัชพืชและศัตรูพืช รวมทั้งฮอร์โมนสังเคราะห์ที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชและสัตว์ ตลอดจนสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุ์กรรม ในขณะเดียวกันก็พยายามประยุกต์ใช้ธรรมชาติเพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตและพัฒนาความต้านทานศัตรูพืช

เกษตรอินทรีย์ให้ความสำคัญสูงสุดในการปรับปรุงดิน โดยเชื่อว่าดินที่สมบูรณ์ย่อมทำให้พืชและสัตว์ที่เจริญเติบโตจากผืนดินนั้นมีความอุดมสมบูรณ์ตามไปด้วย ผู้บริโภคผลผลิตเกษตรอินทรีย์ก็จะได้รับอาหารที่มีคุณภาพดีและปลอดภัย วิธีการปรับปรุงบำรุงดินจะมีทั้งการใช้ปุ๋ยพืชสด ปลูกพืชหมุนเวียน ใช้ประโยชน์จากเศษซากพืชและมูลสัตว์ทำปุ๋ยหมักและปุ๋ยชีวภาพ ตลอดจนใช้ธาตุอาหารเสริมจากหินแร่ต่างๆ มีการควบคุมศัตรูพืชโดยวิธีชีวภาพหรือใช้สารสกัดจากพืชที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ หรือไม่มีผลกระทบต่อตัวห่ำตัวเบียนที่เป็นประโยชน์ ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ไม่มีการตัดแต่งพันธุ์กรรม และมีการป้องกันการปนเปื้อนจากสารเคมี

เมื่อปี 2551 เจ้าหน้าที่ขององค์การอาหารโลกแห่งองค์การสหประชาชาติ (FAO) ได้กล่าวไว้ว่า เกษตรอินทรีย์แบบยั่งยืนเป็นระบบการบริหารจัดการการผลิตแบบองค์รวม ที่หลีกเลี่ยงการใช้ปุ๋ยเคมีและสารกำจัดศัตรูพืช สิ่งมีชีวิตที่มีการตัดแต่งพันธุ์กรรม (จีเอ็มโอ) ลดการสร้างมลพิษในอากาศ ดิน และแหล่งน้ำ ตลอดจนเพิ่มความแข็งแรงของสุขภาพให้กับพืช สัตว์ และมนุษย์ ประโยชน์ของการทำเกษตรกรรมวิธีนี้อย่างเต็มรูป คือ การลดการพึ่งพาพลังงานที่ใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยและมีต้นทุนต่ำ เกษตรอินทรีย์เต็มรูปจึงถือเป็นก้าวแรกของการทำเกษตรกรรมเพื่อความยั่งยืน

ในปัจุบัน ระบบเกษตรอินทรีย์ได้แพร่หลายเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก และกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบผลิตทางการเกษตรที่มีการพัฒนาระบบตลาด และมาตรฐานการผลิตที่มีการรับรองเป็นการเฉพาะและหลากหลายลักษณะ สำหรับประเทศไทย การบุกเบิ่กพัฒนาและเผยแพร่ระบบเกษตรกรรมอินทรีย์และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เริ่มจากการผลักดันขององค์กรพัฒนาเอกชนเป็นส่วนใหญ่ โดยร่วมมือกับกลุ่มเกษตรกรในหลายจังหวัด จนสามารถพัฒนาการตลาดอินทรีย์ให้ขยายไปทั้งในและต่างประเทศ ทำให้เป็นที่สนใจของพรรคการเมืองจนถูกนำไปใช้เป็นนโยบายในการหาเสียง และในที่สุดนโยบายเกษตรกรรมอินทรีย์ได้ถูกบรรจุไว้เป็นวาระแห่งชาติในยุคของรัฐบาลทักษิณ 1 แต่หน่วยงานภาครัฐหลายแห่งยังไม่เข้าใจหลักการและเนื้อหาของระบบเกษตรอินทรีย์ อีกทั้งขาดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ทำให้การพัฒนาเกษตรกรรมอินทรีย์ในฐานะนโยบายระดับประเทศของไทยยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร

อย่างไรก็ตาม ความสนใจพัฒนาเกษตรกรรมอินทรีย์โดยเอาตลาดเป็นตัวนำ มุ่งเน้นการผลิตพืชเชิงเดี่ยวในพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อการค้าอุตสาหกรรมและ/หรือการส่งออกเป็นหลัก พึ่งพาเครื่องจักรการเกษตรแทนแรงงานคน และอยู่ภายใต้ระบบและการควบคุมของบริษัทขนาดใหญ่ แทนที่จะมุ่งเพื่อความมั่นคงด้านอาหารอย่างยั่งยืน ถือเป็นเกษตรอินทรีย์ที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งให้ผลที่แตกต่างอย่างมากกับวิธีการทำเกษตรอินทรีย์แบบยั่งยืนที่คำนึงถึงความสมดุลขององค์ประกอบทั้งหมดในกระบวนการผลิตแบบองค์รวม เพื่อความยั่งยืนทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม สุขภาพ และเศรษฐกิจ

การนำรูปแบบวิธีการเกษตรอินทรีย์ไปใช้เพียงบางส่วนเพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็นเกษตรกรรมอินทรีย์ และผ่านระบบการรับรองมาตรฐานการผลิตเพื่อผลด้านการตลาด อาจเป็นการทำลายหลักการและเป้าหมายที่แท้จริงของระบบเกษตรกรรมอินทรีย์ในบั้นปลาย เพราะการทำเกษตรกรรมอินทรีย์ลักษณะดังกล่าวไม่ถือเป็นเกษตรกรรมอินทรีย์ที่แท้จริง และผิดหลักการของเกษตรกรรมยั่งยืนโดยสิ้นเชิง

9. เกษตรกรรมที่เป็นมากกว่าเกษตรอินทรีย์ (Beyond Organic farming)

เกษตรกรรมที่เป็นมากกว่าเกษตรอินทรีย์ มักหมายถึงการทำเกษตรอินทรีย์เต็มรูปที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพของผลผลิตมากกว่าเกษตรอินทรีย์ทั่วไป หรือเน้นจำนวนชนิดและปริมาณของสารอาหารธรรมชาติที่เป็นประโยชน์กับร่างกายในผลผลิต

เนื่องจากระบบการรับรองเกษตรอินทรีย์ในปัจจุบัน เป็นการรับรองมาตรฐานของกระบวนการผลิตเท่านั้น ไม่ได้รับรองมาตรฐานคุณภาพของผลิต เพราะเมื่อ 30 ปีก่อนตอนที่มีการกำหนดมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ยังไม่มีวิธีการและเทคโนโลยีที่จะสามารถตรวจวัดคุณภาพของผลผลิตได้ ดังนั้น เพื่อป้องกันผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์และผู้ขายใช้การรับรองมาตรฐานผลผลิตอินทรีย์เป็นเครื่องมือการตลาด โฆษณาคุณสมบัติของสินค้าอินทรีย์เกินความเป็นจริง ทำให้ผู้บริโภคที่ไม่รู้ข้อมูลที่แท้จริงเกิดความเข้าใจที่ผิด หน่วยงานรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ทั้วโลกจึงได้ตกลงกำหนดเป็นข้อห้าม ไม่ให้ผู้ที่ได้รับการรับรองเกษตรอินทรีย์อ้างข้อมูลด้านคุณภาพของผลผลิตเพื่อผลด้านการตลาดหรือการขายสินค้า

แต่เมื่อเวลาผ่านไป จนถึงปัจจุบันที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้พัฒนาไปไกลกว่าเมื่อ 30 ปีก่อนมาก วิทยาศาสตร์ได้หันมาสนใจเรื่องคุณภาพของผลผลิตการเกษตรที่อาหาร เพราะปัญหาด้านสุขภาพได้กลายเป็นปัญหาวิกฤตของสังคม จึงมีการคิดหาวิธีการและเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อนในการตรวจวัดคุณภาพของผลผลิตการเกษตร ทำให้สามารถกลับไปปรับปรุงระบบและวิธีการทำเกษตรกรรมอินทรีย์ให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและรักษาระดับคุณภาพของผลผลิตอินทรีย์ให้สม่ำเสมอต่อเนื่องได้ จึงเป็นที่มาของระบบเกษตรกรรมที่เป็นมากกว่าเกษตรอินทรีย์ ในปัจจุบันยังไม่มีระบบการรับรองมาตรฐานด้านคุณภาพผลผลิตเกษตรอินทรีย์ แต่มีหลายหน่วยงานที่กำลังพยายามริเริ่มทำมาตรฐานด้านคุณภาพสำหรับผลผลิตการเกษตรแต่ละชนิด

ถึงแม้โดยทั่วไป ผลผลิตจากระบบเกษตรอินทรีย์ที่แท้จริงจะมีปริมาณสารอาหารที่มากกว่าผลผลิตเกษตรเคมีก็ตาม แต่เมื่อคำว่า เกษตรอินทรีย์ เริ่มถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือการตลาด การทำเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะของบริษัทการเกษตรอุตสาหกรรม จึงเริ่มเปลี่ยนวิธีการผลิตจากการใช้สารเคมีมาใช้สารสกัดจากอินทรีย์วัตถุแทน โดยไม่มีการเปลี่ยนวิธีคิดและระบบการทำเกษตรอินทรีย์อย่างเป็นระบบที่ครบวงจร หรือเป็นระบบเกษตรอินทรีย์เต็มรูป ทำให้มีผลกับคุณภาพผลผลิตด้วย ในปัจจุบัน มีระบบวิธีการเกษตรอินทรีย์เต็มรูปและเกษตรธรรมชาติเข้มข้นที่คำนึงถึงคุณภาพผลผลิตเป็นสำคัญ พอจัดรวมเป็นระบบเกษตรกรรมที่เป็นมากกว่าเกษตรอินทรีย์ทั่วไปได้ เช่น เกษตรชีวพลวัต (Bio-Dynamic) เกษตรชีวภาพเข้มข้น (Bio-Intensive) เกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพ (Bio-Energetic) เกษตรสารอาหารเข้มข้น (Nutrient Dense Farming) และเกษตรธรรมชาติแบบเอ็มโอเอ เป็นต้น

บทสรุป - โดยสรุป ระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืนควรจะสามารถ

  • ให้ผลผลิตที่มีคุณค่าสารอาหารด้านโภชนาครบถ้วน และสามารถสร้างรายได้ในระดับที่เพีให้ผลผลิตหลากหลายชนิด เพื่อความหลากหลายทางชีวภาพและความมั่นคงด้านอาหาร
  • ยังพอต่อการดำรงชีวิตให้กับเกษตรกร
  • ใช้พื้นที่เพื่อการเพาะปลูกน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ใช้ประโยชน์จากความมีประสิทธิภาพของระบบการผลิตในที่ดินแปลงเล็กหรือของเกษตรกรรายย่อย
  • ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ได้จากการผสมเกษรตามธรรมชาติ (open pollination) เพื่อให้ความเป็นเจ้าของเมล็ดพันธุ์กลับมาอยู่ในมือของเกษตรกรและชุมชน และส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์พื้นเมืองเพื่อความเหมาะสมกับท้องถิ่นที่เพาะปลูก
  • ใช้เครื่องมือการเกษตรที่อาศัยแรงงานคนเป็นหลัก ไม่มีความซับซ้อน เพื่อลดต้นทุนด้านเศรษฐกิจและลดการใช้ต้นทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ทรัพยากรในดิน
  • ปรับเข้าได้กับวัฒนธรรมการผลิตของท้องถิ่น และสามารถตกทอดสู่รุ่นลูกหลานต่อไปได้
  • เป็นวิธีที่ทำได้โดยเกษตรกรรายย่อยที่มีที่ดินแปลงเล็ก ขนาดราว 10 ไร่ ไม่ว่าเกษตรกรผู้ผลิตจะมีฐานะทางเศรษฐกิจระดับใดก็ตาม
  • วิธีการทำเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ไม่ควรจะ
  • พึ่งพาเครื่องจักรการเกษตรขนาดใหญ่
  • พึ่งพิงการใช้ปุ๋ยหรือใส่สิ่งเพิ่มเติมจำนวนมากลงในดิน (รวมทั้งปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมัก) ที่ไม่สามารถผลิตได้เองจากในพื้นที่ที่ทำการเกษตร
  • ต้องใช้ทรัพยากรหรือผลผลิตจากทรัพยากรที่ไม่สามารถหามาทดแทนได้ เช่น น้ำมันปิโตรเลียม
  • ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่เพื่อเกษตรกร ชุมชนท้องถิ่น และชุมชนโลก ต้องลดน้อยถอยลง แต่ในทางกลับกันทำให้มีเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้นเท่าที่จะทำได้
หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...