รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) จัดทำโครงการ “อินเทอร์เน็ตประชารัฐ” โดยมี บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เชื่อมต่อโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านสายเคเบิลใยแก้วนำแสง เข้าไปในชุมชนหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลจากเขตเมือง ซึ่งบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเข้าไปไม่ถึง
กระทั้ง เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐบาลได้ประกาศความสำเร็จ “โครงการเน็ตประชารัฐเฟสแรก” จำนวน 24,700 หมู่บ้าน พร้อมประกาศว่าจะขยายโครงข่าย “เน็ตประชารัฐเฟสที่ 2” เพิ่มอีก 15,732 หมู่บ้าน เพื่อให้โครงข่ายเน็ตประชารัฐเชื่อมต่อเป็นโครงข่ายเดียวกันทั้งประเทศ ภายในเดือนธันวาคม 2561 นี้ จากผลของโครงการดังกลัว ได้ทำให้ในพื้นที่ติดตั้งอินเทอร์เน็ตประชารัฐ ประชาชนสามารถใช้บริการ Wi-Fi ได้ฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐ ทั้งด้านการศึกษา การสาธารณสุข การเกษตรกรรม การค้าขายสินค้าออนไลน์ และการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ และเพิ่มรายได้ให้กับตนเอง
อย่างเช่นในท้องที่ หมู่ 9 บ้านหัวควาย ตำบลคู่เตา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ชายขอบของอำเภอหาดใหญ่ อยู่ติดกับทะเลสาบสงขลา ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำประมงพื้นบ้าน และค้าขาย หลังจากที่มีการติดตั้งเน็ตประชารัฐไว้ที่ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ตำบลคูเต่า มีเด็กนักเรียนและชาวบ้านเข้าไปใช้บริการเน็ตประชารัฐกันอย่างคับคั่ง ทั้งในและนอกเวลาราชการ เพราะนอกจากจะมีโต๊ะ ม้านั่ง และบริการ Wi-Fi ให้ใช้ฟรีแล้ว ใน กศน.แห่งนี้ ยังมี คุณสุรภา ชินสกุลเจริญ ครู กศน.ตำบลคูเต่า มาคอยแนะนำและให้ความรู้เรื่องการใช้คอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน เพื่อการเข้าถึงเครือข่ายออนไลน์ ให้เกิดประโยชน์ในด้านต่างๆ ด้วย
คุณนัฐฐิรา ถาวรกาญจน์วริศ ครู กศน.ตำบลคอหงส์ อ.หาดใหญ่ ซึ่งผ่านการฝึกอบรมทางด้านเน็ตประชารัฐ จาก บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และเป็นหนึ่งในวิทยากรที่ทำหน้าที่เผยแพร่ให้ความรู้ในเรื่องเน็ตประชารัฐแก่ชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ของอำเภอหาดใหญ่ เล่าให้ฟังว่า เน็ตประชารัฐที่ กศน.ตำบลคูเต่า เป็นเฟสแรกของเน็ตประชารัฐในจังหวัดสงขลา ติดตั้งแล้วเสร็จเมื่อต้นปี 2561 ซึ่งที่ผ่านมาตนเองและคณะครู กศน.ตำบลคูเต่า ได้จัดอบรมให้ความรู้กับเด็กนักเรียน และชาวบ้านในพื้นที่ ทั้งในเรื่องการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตไวไฟ รวมทั้งการใช้งานสมาร์ทโฟนที่ถูกต้อง เพื่อให้เกิดประโยชน์กับชีวิตประจำวัน และไม่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์
“หลังจากที่มีการติดตั้งเน็ตประชารัฐ รูปแบบการเรียนการสอนมีความคล่องตัวมากขึ้น เด็กๆ ในพื้นที่ก็ได้เข้ามาใช้เน็ตประชารัฐ เพื่อการสืบค้นข้อมูลความรู้ด้านการศึกษา การทำโครงการและรายงานต่างๆ บางคนยังได้สร้างเฟซบุ๊กและไลน์ขึ้นมาขายเครื่องสำอางผ่านระบบออนไลน์ ทำให้มีรายได้มาช่วยเหลือตนเอง ลดภาระค่าใช้จ่ายจากทางบ้าน ขณะเดียวกันบรรดาแม่บ้านและผู้ปกครอง ซึ่งรวมตัวกันเป็นกลุ่มอาชีพรับจัดดอกไม้ตามงานพิธีต่างๆ ก็หันมาทำเฟซบุ๊กและไลน์ เพื่อเผยแพร่ รับงานและติดต่องานกับลูกค้าเช่นเดียวกัน ขณะที่บรรดาชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง ก็ริเริ่มที่จะจำหน่ายอาหารทะเลสด ประเภทกุ้งหางแดง ปลากระบอก ปลากะพง และอาหารทะเลแปรรูป ผ่านระบบออนไลน์ด้วยเช่นกัน” นางนัฐฐิรา กล่าว
ทางด้าน คุณชลดา แสงทอง แกนนำแม่บ้านกลุ่มอาชีพรับจัดดอกไม้ตามงานพิธีต่างๆ กล่าวว่า ทางกลุ่มได้ทำเฟซบุ๊กและไลน์ขึ้นมา เป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์และติดต่อรับงานจัดดอกไม้นอกพื้นที่ ปัจจุบันมีลูกค้าติดต่อจ้างงานเพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ ทำให้กลุ่มมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าแต่ก่อน จากเดิมลูกค้าของเราจะมีเพียงคนในหมู่บ้านหรือคนในตำบลเดียวกันเท่านั้น ซึ่งรู้จักกันในลักษณะปากต่อปาก แต่ทุกวันนี้ด้วยการติดต่อสื่อสารออนไลน์จากโครงการเน็ตประชารัฐ ทำให้เรามีลูกค้าใหม่ๆ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อื่นๆ ของอำเภอหาดใหญ่และอำเภออื่นๆ ของจังหวัดสงขลา ติดต่อเข้ามา เดือนละหลายๆ งาน โดยรายได้ในแต่ละครั้งจะแล้วแต่ลักษณะของงาน อย่างเช่น ถ้าเป็นงานจัดขันหมากดอกไม้ในงานแต่งงาน ก็จะมีราคาตั้งแต่ 4,500 บาท ขึ้นไปจนถึง 23,000 บาท ซึ่งราคามากหรือน้อยขึ้นอยู่รูปแบบ ปริมาณดอกไม้ และความต้องการของลูกค้า