เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา ที่โรงแรมเลอ เมอริเดียม เชียงราย รีสอร์ท อำเภอเมืองเชียงราย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดงานสัมมนาสร้างการรับรู้และความเข้าใจโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายเด่นชัย เชียงราย เชียงของ เพื่อเตรียมความพร้อมทุกภาคส่วน เป็นการรองรับการพัฒนาโครงการ มีผู้เข้าร่วมรับฟัง เป็นผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และประชาชน จำนวน 500 คน
นายอาคม กล่าวว่า โครงการนี้มีความเป็นมาตั้งแต่ปี 2503 หรือกว่า 58 ปีมาแล้ว และหากจะนับตั้งแต่การมีมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ศึกษาโครงการเมื่อวันที่ 28 ก.ค.2507 ก็เป็นเวลาร่วม 54 ปีเช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นโอกาสอันดีมากที่ในครั้งนี้โครงการมีความชัดเจน และจะมีการก่อสร้างจริงโดยปลายทางจะเชื่อมกับศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าที่ด่านพรมแดน อ.เชียงของ ทำให้ทางรถไฟสายนี้ไม่ใช่เส้นทางเพื่อการโดยสารทั่วไป แต่ยังเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภาคเหนือที่เชื่อมถึงประเทศจีน ผ่าน สปป.ลาว ในอนาคตได้ และจะทำให้การคมนาคมขนส่งที่ จ.เชียงราย สมบูรณ์แบบทั้งทางบก ทางเรือแม่น้ำโขง ทางอากาศต่อไป
ทั้งนี้ โครงการมีกำหนดจะให้แล้วเสร็จในปี 2568 แต่ด้วยระยะทางเพียงประมาณ 323.10 กิโลเมตร ทำให้ตนได้เร่งรัดและผลักดันให้ย่นระยะเวลาให้แล้วเสร็จในปี 2566 กระนั้นเนื่องจากเป็นเส้นทางใหม่ที่ต้องมีการเวนคืนที่ดินและเจาะอุโมงระยะทางรวมกันกว่า 13.9 กิโลเมตร โดยจุดลึกที่สุดคือพื้นที่ จ.แพร่ ระยะทาง 6.4 กิโลเมตร จึงอาจให้แยกสัญญาการขุดเจาะอุโมงค์ออกไปอีก 1 สัญญา เพื่อให้โครงการรุดหน้าได้แล้วเสร็จตามแผน เนื่องจากการขุดเจาะอุโมงค์ไม่ต้องใช้การเวนคืนที่ดิน
สำหรับภาพรวมของเส้นทางคือใช้งบประมาณ 85,345 ล้านบาท ผ่านพื้นที่ 59 ตำบล 17 อำเภอมีสถานีทั้งสิ้น 26 สถานีโดยเป็นสถานีขนาดใหญ่ 4 สถานี สถานีขนาดเล็ก 9 สถานี และป้ายหยุดรถ 13 แห่ง มีลานขนถ่ายสินค้าจำนวน 4 แห่ง ย่านกองเก็บและบรรทุกตู้สินค้าเนื้อที่ 150 ไร่ 1 แห่งที่สถานีเชียงของที่เชื่อมกับด่านพรมแดน
นายอาคม กล่าวด้วยว่า เส้นทางสายนี้มีจุเด่นคือจะไม่มีจุดตัดทางแยก และกลับมีรั้วกั้นตามรายทางและออกแบบสะพานให้เฉพาะเพื่อให้รถยนต์ข้ามทางรถไฟไปตลอดแนว มีสะพานลอย ทางเท้า และทางรถจักรยานยนต์ข้ามและลอดทางรถไฟรวมประมาณ 254 จุด จึงทำให้มีความปลอดภัย ส่วนจุดที่ผ่านภูเขาก็จะมีการขุดเจาะอุโมงค์ทางคู่ทำให้สามารถเดินทางได้รวดเร็ว ใช้เครื่องจักรใหม่ที่มีความเร็วตามปกติ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ความเร็วจริงที่ทำได้บนรางคือประมาณ 120-140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งก็ถือว่าเร็วและตรงเวลากว่ารถยนต์ รวมทั้งเป็นรางคู่ไม่ต้องหลีกทางกัน สามารถเชื่อมแหลมฉบัง-กรุงเทพฯ-เชียงราย-เชียงของ ตามสถานีจะพัฒนาให้มีการเชื่อมโยงกับการคมนาคมรถยนต์ตามปกติซึ่งจะเปลี่ยนวัฒนธรรมการเดินทางโดยสารของคนไทยได้
“ประเมินว่าในปี 2566 รถไฟสายนี้จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 5,600 คนต่อวัน และในปี 2595 รองรับได้ถึง 9,800 คนต่อวัน ด้านการขนส่งสินค้าจะรองรับปริมาณตู้สินค้าได้ถึง 413,417 ทีอียูต่อปี ในปี 2566 และปี 2595 จะเพิ่มขึ้นเป็น 951,955 อีทียูต่อปี ซึ่งจะทำให้การขนส่งสินค้าเติบโตขึ้นร้อยละ 4.65 ต่อปี และทำให้การนำเข้าและส่งออกสินค้าผ่านด่านเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30-40 ต่อปี และจะเชื่อมกรุงเทพฯ-เชียงของ ด้วยรางคู่ตลอดแนวโดยกำลังสร้างเส้นทางปากน้ำโพ-เด่นชัย เชื่อมถึงกันอยู่ ดังนั้นเส้นทางนี้จะพลิกโฉม จ.เชียงราย ให้เป็นศุนย์กลางโลจิสติกส์ซิตี้ของภูมิภาคนี้ในอนาคตต่อไป” นายอาคม กล่าว