นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า หลังจากที่กรมบัญชีกลางได้ดำเนินการตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติให้มีการเพิ่มวงเงินให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่แสดงความประสงค์จะพัฒนาตนเองในแบบประเมินและเมนูการพัฒนารายบุคคล โดยจะได้รับวงเงินเพิ่มสำหรับการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษาและวัตถุดิบเพื่อการเกษตรกรรม จากร้านธงฟ้าประชารัฐ และร้านอื่น ๆ ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด ซึ่งผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี ได้รับวงเงินเพิ่ม จำนวน 200 บาท/คน/เดือน และผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีรายได้เกิน 30,000 บาทต่อปี ได้รับวงเงินเพิ่ม จำนวน 100 บาท/คน/เดือน ทั้งนี้ การเพิ่มวงเงินดังกล่าว ดำเนินการมาแล้ว 6 เดือน (ตั้งแต่เดือนมีนาคม - สิงหาคม 2561) ซึ่งสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนให้กับผู้มีสิทธิได้ระดับหนึ่ง
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวต่อว่า วันที่ 28 สิงหาคม 2561 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้มีการปรับเปลี่ยนจากการเพิ่มวงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 200/100 บาท เป็นการเติมเงินรายเดือนเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของผู้มีสิทธิแทน เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกและกำลังซื้อให้ผู้มีสิทธิ สามารถนำเงิน
จำนวนดังกล่าวไปใช้จ่ายได้ตามความต้องการ เช่น ยารักษาโรค อาหาร รวมทั้งสามารถใช้เงินที่เติมลงบัตรในส่วนนี้ เพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการกับหน่วยงานหรือร้านค้าที่วางเครื่อง EDC ของโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือร้านค้าทั่วไป ที่วางเครื่อง EDC ที่มีสัญลักษณ์ PromptCard หรือร้านค้าที่รับชำระเงินผ่าน Mobile Application“ถุงเงินประชารัฐ”
ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิที่เริ่มใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐในการชำระค่าสินค้าหรือบริการจากเงินที่เติมลงบัตรเป็นครั้งแรก จะต้องเปลี่ยนรหัส 6 หลักเดิม (เลขประจำตัวประชาชน 6 หลักสุดท้ายบนหน้าบัตร) จากเครื่อง ATM หรือ เครื่อง ADM หรือ สาขาของ บมจ. ธนาคารกรุงไทย ก่อนจึงจะสามารถใช้ได้ สำหรับผู้ที่ได้ใช้รหัส 6 หลักในการชำระค่าสินค้าหรือบริการ ผ่าน Mobile Application “ถุงเงินประชารัฐ” แล้ว สามารถใช้รหัสเดียวกันนี้ได้ทันที โดยไม่ต้องเปลี่ยนรหัสอีก ตลอดจนใช้ถอนเงินในส่วนนี้ได้ และควรเก็บรักษารหัสไว้อย่างดีเพื่อความปลอดภัย
อย่างไรก็ดี การปรับเปลี่ยนเป็นการเติมเงินรายเดือนเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของผู้มีสิทธิยังคงวัตถุประสงค์เดิม คือเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาค่าครองชีพให้กับผู้มีรายได้น้อย และยังเป็นการส่งเสริมการเข้าสู่สังคมไร้เงินสด