เอไอเอสปักหมุดผู้นำเครือข่ายที่ดีที่สุด พร้อมเดินหน้ายกระดับคุณภาพการใช้งานของลูกค้าในทุกมิติ หลังประมูลได้คลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ เพิ่ม ส่งผลให้ เอไอเอสเป็นผู้ให้บริการที่ถือครองคลื่นความถี่สำหรับให้บริการ 4G มากที่สุด และมีแบนด์วิธคลื่นกว้างที่สุดเพียงรายเดียวในประเทศ
และยังส่งผลให้เอไอเอสก้าวขึ้นเป็น ผู้ให้บริการที่มีคลื่นความถี่ในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวนมากที่สุดในอุตสาหกรรม รวมทั้งสิ้น 120 เมกะเฮิรตซ์ (60 เมกะเฮิรตซ์ x 2) ประกอบด้วยคลื่นความถี่ที่ได้รับใบอนุญาตจากกสทช. และจากการทำสัญญาโรมมิ่งกับทีโอที ซึ่งเหมาะสมสำหรับการรองรับการใช้งานของลูกค้าทั้งสิ้นกว่า 40 ล้านเลขหมาย และรองรับการขยายตัวของผู้ใช้บริการที่จะมีการใช้งานดาต้าเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้ง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับบริษัทสามารถสร้างโอกาสและต่อยอดนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อย่างไร้ขีดจำกัด
นายปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป เอไอเอส กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของเอไอเอส คือการมอบประสบการณ์ดิจิทัลที่ดีที่สุดอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อยกระดับการใช้ชีวิตของคนไทยในทุกมิติ วันนี้ เราก้าวล้ำไปอีกขั้น ด้วยการลงทุนด้านเครือข่ายครั้งใหญ่ จากการประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ เพิ่ม ทำให้ปัจจุบันเอไอเอสเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายที่ถือครองคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. มากที่สุด และเป็นรายเดียวที่มีคลื่นต่อเนื่องกันถึง 40 เมกะเฮิรตซ์ (20 เมกะเฮิรตซ์ X 2) เรียกว่าเป็น แบนด์วิธคลื่นสำหรับให้บริการ 4G ในระบบ FDD ที่กว้างที่สุดในประเทศไทย
ดังนั้น เมื่อนับรวมคลื่นความถี่ 1800 เมกะเอิรตซ์ จำนวน 40 เมกะเอิรตซ์ (20 เมกะเอิรตซ์ X 2), คลื่นความถี่ 2100 เมกะเอิรตซ์ จำนวน 30 เมกะเอิรตซ์ (15 เมกะเอิรตซ์ X 2) ที่เป็นของเอไอเอสเอง และอีก 30 เมกะเอิรตซ์ (15 เมกะเอิรตซ์ X 2) ที่เป็นพันธมิตรร่วมกับ TOT และคลื่นความถี่ 900 เมกะเอิรตซ์ อีก จำนวน 20 เมกะเอิรตซ์(10 เมกะเอิรตซ์ X 2) ทำให้เอไอเอสมีคลื่นความถี่ในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมทั้งสิ้น 120 เมกะเอิรตซ์ (60 เมกะเอิรตซ์ x 2) ซึ่งเต็มเปี่ยมประสิทธิภาพ และพร้อมต่อการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีเครือข่ายในอนาคต
โดยเอไอเอสพร้อมนำคลื่นความถี่ 1800 เมกะเอิรตซ์ที่ประมูลมาได้เพิ่มในครั้งนี้ เตรียมเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ เมื่อได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. และภายหลังจากบริษัทได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินการอย่างครบถ้วน นับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการประมูล และหลังจากที่คลื่นนี้จะหมดสัญญาสัมปทานเดิม
“การประมูลคลื่น 1800 เมกะเอิรตซ์ในครั้งนี้ มีความสำคัญและมุ่งหมายเพื่อเสริมคุณภาพบริการดาต้าในยุค 4G ให้สูงขึ้น และยกระดับความแข็งแกร่งของโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมในประเทศไทย โดยถือเป็นทางเลือกที่ให้ประโยชน์และความคุ้มค่าสูงสุดสำหรับการขยายความจุโครงข่ายเพื่อรองรับการเติบโตของ 4G โดยเป็นการเพิ่มช่องสัญญาณจากที่มีอยู่เดิมและใช้ได้กับอุปกรณ์โครงข่าย 4G บนคลื่น 1800 เมกะเอิรตซ์ ที่ลงทุนไปแล้ว เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับบริษัทในการให้บริการและเตรียมความพร้อมก้าวสู่เทคโนโลยี 5G” นายปรัธนากล่าว