ปัญหาของผู้ประกอบการรายย่อย (SME) หรือ วิสาหกิจชุมชนส่วนใหญ่คือเน้นขายสินค้าที่เป็นกระแสเป็นหลัก ส่งผลให้อุปทานมักสูงกว่าอุปสงค์อยู่เสมอและส่งผลให้เกิดการแข่งขันทางด้านราคาเป็นหลัก ทว่า หากมองที่มูลค่าของสินค้าด้านความสร้างสรรค์ถือเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยควรส่งเสริมเพิ่มเพื่อให้สร้างเอกลักษณ์และความโดดเด่นให้กับตัวสินค้า รวมถึงใช้การตลาดออนไลน์ เพราะถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับสินค้าหรือธุรกิจของ SME ให้มีโอกาสด้านการค้าขายทั้งในและต่างประเทศยิ่งขึ้น
ดร.สุทธิภัทร อัศววิชัยโรจน์ อาจารย์คณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด กล่าวว่า หากมองในเชิงศักยภาพของผู้ประกอบการรายย่อยในประเทศไทยหากเทียบกับใน CLMV ถือว่าประเทศไทยยังมีจุดแข็งอยู่มาก เพราะไทยมีสินค้าที่หลากหลายมีผู้ประกอบการที่กล้าลงทุนค่อนข้างเยอะ อีกทั้งทางรัฐบาลมีการส่งเสริมการผู้ประกอบการรายย่อยอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับแนวคิดการดำเนินธุรกิจของเราเข้าสู่ขั้นผลิตเพื่อส่งออก ขณะที่ในประเทศ CLMV ยังเน้นการผลิตเพื่อบริโภคในประเทศอยู่
“อย่างไรก็ตาม ถึงทางผู้ประกอบการไทยจะประสิทธิภาพการผลิตเพื่อส่งออกมากขึ้น แต่หากมองแง่ปริมาณการส่งออกผู้ประกอบการรายย่อยของไทย มีการส่งออกเป็นเปอร์เซ็นน้อยหรืออยู่ที่ประมาณ 5% จากการส่งออกทั้งหมด ส่วนหนึ่งมาจากเรื่องของภาษา รวมถึงคนไทยยังขาดองค์ความรู้ในการบุกเบิกตลาดต่างประเทศ SME ส่วนใหญ่จึงดำเนินธุรกิจโดยยึดตลาดในประเทศเป็นสำคัญ ถึงกระนั้นก็ยังมีผู้ประกอบการอีกส่วนที่เริ่มเข้าใจและมองเห็นความจำเป็นในการทำการค้าในตลาดต่างประเทศ เนื่องจากการค้าภายในประเทศแข่งขันกันไม่ได้ซึ่งหากไปต่างประเทศจะมีแข่งขันที่น้อยกว่าโอกาสสร้างรายได้ก็ย่อมสูงขึ้นตามไปด้วย” สุทธิภัทร กล่าว
ทั้งนี้ นอกจากเรื่องภาษาและองค์ความรู้แล้ว สิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการเป็นผู้ประกอบการรายย่อยของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ได้แก่ 1.การสนับสนุนทางการเงิน 2.การเปิดกว้างของตลาดและ 3 นโยบายของภาครัฐ โดยเรื่องของอุปสรรคด้านการสนับสนุนทางการเงิน ถือเป็นอุปสรรคที่ผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศต้องเผชิญเหมือนกัน ขณะที่บางประเทศอาจประสบปัญหาที่แตกต่างออกไป อาทิ สิงคโปร์ ด้านความเท่าเทียมทางสังคมและวัฒนธรรม
อีกสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นเรื่องท้าทายในการยกระดับผู้ประกอบการรายย่อย คือการปลูกฝังแนวคิดการสร้างความแตกต่างของสินค้าเพื่อสร้างจุดขายเหนือคู่แข่ง โดยกรอบแนวคิดดังกล่าวอาจมาจากรูปแบบจากรัฐถึงผู้ประกอบการ แต่ขาดการถ่ายทอดให้กับชุมชนหรือผู้ประกอบการอย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่กรอบชุดความคิดบางนั้นหากทางผู้ประกอบการไม่สนใจหรือมองไม่เห็นประโยชน์ที่จะได้รับ เขาก็อาจไม่ได้เปิดใจรับตั้งแต่ต้น
ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีหน้าที่ดำเนินโครงการพัฒนาผู้ประกอบการ ต้องสร้างแรงกระตุ้นให้ชุมชนหรือผู้ประกอบการเห็นความสำคัญของโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาแนวคิดการทำธุรกิจมากขึ้น โดยสะท้อนให้เห็นว่าถึงแม้จะการร่วมกับโครงการดังกล่าวไม่ได้ทำให้ยอดขายของธุรกิจนั้นดีขึ้นเฉียบพลัน แต่ก็เป็นการทำให้เขาปรับแนวคิดในการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับการแข่งขันในปัจจุบันมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้เขามีเครือข่ายทางธุรกิจในสาขาเดียวกันมากขึ้น เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นส่งผลให้เกิดการผลักดันต่อยอดด้านธุรกิจ
นอกเหนือจากองค์ความรู้แล้วการเชื่อมผู้ประกอบการสู่การตลาดออนไลน์ก็ถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในยุคที่โลกถูกเชื่อมด้วยอินเทอร์เน็ต ยิ่งผู้ประกอบการไทยมีการตื่นตัวและปรับตัวกับการตลาดยุคใหม่ได้เร็วเท่าไหร่ โอกาสในคว้าตลาดใหม่เพื่อสร้างรายได้ก็มีสูงขึ้นตามไปด้วย
อาจารย์คณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด บอกถึงความตื่นตัวด้านการตลาดออนไลน์ของผู้ประกอบการรายย่อยในประเทศไทยว่า ในด้านการใช้การตลาดออนไลน์เพื่อส่งเสริมการค้านั้นในประเทศไทยถือว่ายังมีอยู่น้อยมาก เพราะเขายังคงยึดติดกับการค้าขายแบบเดิมๆ หรือบางแห่งมองกลุ่มลูกค้าเป้าหมายยังเป็นคนในพื้นที่เสียส่วนใหญ่ จึงมองการทำการตลาดออนไลน์ดูเกินความจำเป็น นั้นจึงทำให้ผู้ประกอบการไทยยังขาดความตื่นตัวด้านนี้ไม่มากนักโดยเฉพาะผู้ประกอบการในต่างจังหวัด แม้แต่ผู้ประกอบการในตัวเมืองหรือกรุงเทพเอง ก็ยังมีการใช้เครื่องมือนี้น้อยมาก ซึ่งเรื่องเหล่านี้ต้องใช้เวลาซักระยะนึงในการให้พวกเขาปรับตัว หากผู้ประกอบการเห็นช่องทางหรือโอกาสด้านรายได้มากขึ้นก็มีโอกาสที่เขาจะใช้การตลอดออนไลน์พัฒนาธุรกิจให้เติบโตขึ้นได้
ทั้งนี้ก่อนที่ผู้ประกอบการจะเริ่มใช้ตลาดออนไลน์สิ่งสำคัญที่จะเริ่มสิ่งใด ต้องหากลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้ได้ก่อน เพื่อศึกษาว่าลูกค้ากลุ่มดังกล่าวต้องการอะไร แล้วนำเสนอในสิ่งที่เขาต้องการ ขณะเดียวกันก็พยายามหาเครือข่ายหรือกลุ่มที่ทำธุรกิจในแวดวงเดียวกัน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมด้านการค้าขายให้มีประสิทธิภาพและเป็นที่รู้จักได้มากขึ้น เนื่องจากการขับเคลื่อนธุรกิจเป็นกลุ่มๆ จะสร้างการรับรู้และความสนใจในตัวสินค้าให้กับผู้บริโภคได้ดีกว่า
“การไลฟ์สดก็ถือเป็นการตลาดออนไลน์ได้เหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าเล็กๆ หรือราคาไม่ได้สูงมากนัก แต่ถ้าเป็นสินค้าที่ราคาสูงเช่น รถยนต์ก็อาจจะยากหรือไม่ซื้อเลยเพราะสินค้าราคาสูงผู้บริโภคย่อมต้องการประสบการณ์โดยตรงกับสินค้าสำหรับผู้ประกอบการที่อยากเริ่มต้นทำการตลาดออนไลน์ หาโอกาสได้ลองจับต้องมันดู เช่น ไลฟ์สดในเฟสบุ๊ค ทำแซลแนลบนเว็บไซค์ยูทูป โดยอาจไม่ต้องลงทุนก็ได้ ลองหาแนวทางดูเผื่อจะเจอแนวทางที่ตนเองสนใจเมื่อคุ้นชินแล้วก็จะเริ่มมีการออกแบบและใช้การตลาออนไลน์ขยายตลาดให้กว้างยิ่งขึ้นและเป็นการเพิ่มโอกาสด้านรายได้ให้เพิ่มขึ้นด้วย” สุทธิภัทร กล่าวเสริม
การตลาดออนไลน์คืออะไรและควรทำอย่างไร
Digital marketing หรือการตลาดออนไลน์คือการใช้อิเล็กทรอนิคเป็นช่องทางโปรโมทหรือเผยแพร่สินค้าของคุณผ่านเครื่องมือเทคโนโลยีต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์ หรือ สมาร์ทโฟน ซึ่งหากมีการส่งข้อมูลสินค้าไปแล้ว ผู้ส่งสามารถรู้ผลตอบรับได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากผู้บริโภคจะสามารถรับข้อมูลสินค้าของคุณได้จากทุกที่และทุกเวลา และตอบรับการซื้อขายได้อย่างทันที ทำให้การดำเนินธุรกิจผ่านการตลาดออนไลน์มีความฉับไวและสร้างมูลค่าทางธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว ถึงกระนั้นทางผู้ประกอบการก็ต้องมีการดำเนินด้านการตลาดออนไลน์อย่างสม่ำเสมอ เพราะหากไม่ทำหรือทำการตลาดออนไลน์แต่ขาดความต่อเนื่อง นอกจากจะไม่ได้ช่วยด้านยอดขายแล้วยังทำให้แบรนด์หรือสินค้าของคุณขาดความน่าเชื่อถืออีกด้วย