นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่การกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) จังหวัดชุมพร ที่ผ่านมา รับข้อเสนอจากภาคเอกชนที่ขอสนับสนุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ 28 โครงการ แบ่งเป็น ทางบก 17 โครงการ ทางน้ำ 4 โครงการ และทางอากาศ 1 โครงการ รวมมูลค่าการลงทุน 128,391 ล้านบาท
ทั้งนี้ ภาคเอกชนได้มีข้อเสนอใหม่ในโครงสร้างพื้นฐานทางด้านรถไฟ เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงในการคมนาคมขนส่งและการท่องเที่ยวระหว่างกลุ่มจังหวัดภาคใต้ในโครงการรถไฟเชื่อมต่อชุมพรกับท่าเรือน้ำลึกระนอง โดยทางกระทรวงคมนาคมจะมีการออกแบบรายละเอียดและทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ในปี 62 และเริ่มต้นก่อสร้างในปี 63 เพื่อเชื่อมต่อ 2 ฝั่งและนำสินค้าไปยังท่าเรือระนอง ซึ่งถือเป็นประตูสู่การค้าขายและเดินเรือ
โดยมีโครงการพัฒนาท่าเรือระนองท่าที่ 3 เพื่อเพิ่มศักยภาพตู้ขนส่งสินค้าจาก 7 หมื่นตู้เป็น 5 แสนตู้ และได้เสนอขอให้เร่งรัดดำเนินการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายใหม่เส้นทางสุราษฎร์ธานี-ท่านุ่น (พังงา) การก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายใหม่ดอนสัก-สุราษฎร์ธานี นอกจากนี้มีแผนเชื่อมต่อเส้นทางยัง จ.พังงา กระบี่ ไปถึงสถานีรถไฟกันตัง จ.ตรัง ซึ่งเป็นเส้นทางส่งเสริมการท่องเที่ยว
นอกจากนี้ ภาคเอกชนได้เสนอขอรับการสนับสนุนโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี สุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา และหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทางทั้งหมด 345 กิโลเมตร มูลค่าลงทุน 83,506 ล้านบาท
ทั้งนี้ ภาคเอกชนเสนอให้เร่งรัดการศึกษาออกแบบการก่อสร้างเส้นทางมอเตอร์เวย์ตั้งแต่จังหวัดชุมพรถึงอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจภาคใต้ โดยแบ่งโครงการเป็น 4 ระยะ ประกอบด้วยระยะที่ 1 ช่วงนครปฐม-ชะอำ ช่วงปี60-64 จะทำเป็นโครงการพีพีพี และเตรียมเสนอ ครม.ระยะที่ 2 ช่วงชะอำ-ชุมพร ช่วงปี 65-69 ระยะที่ 3 ช่วงชุมพร-สงขลา ช่วงปี 70-74 และระยะที่ 4 ช่วงสงขลา-นราธิวาส ช่วงปี 75-79
ส่วนการพัฒนาโครงข่ายทางอากาศ ภาคเอกชนมีข้อเสนอให้เร่งรัดการพัฒนาและปรับปรุงท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยปรับปรุงอาคารที่พักผู้โดยสาร เพิ่มลานจอดเครื่องบิน อาคารจอดรถยนต์และเส้นทางเข้า-ออก ท่าอากาศยาน เนื่องจากมีปริมาณผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ทางรัฐบาลมีแผนปรับปรุงท่ากาศยานกระบี่ภายในปี 61 โดยจะเพิ่มอาคารผู้โดยสารในประเทศอีก 1 อาคาร และแผนปรับปรุงท่ากาศยานนครศรีธรรมราชและท่ากาศยานตรังในปี 2562 ต่อไป
สำหรับการพัฒนาชายฝั่งทั้งสองฝั่งในโครงการก่อสร้างและพัฒนาถนนเลียบชายฝั่งอ่าวไทย (Thailand Rivera) ระยะทาง 515 กิโลเมตร เหลือการดำเนินการก่อสร้าง 177 กิโลเมตร ที่จะถึง จ.ชุมพร ซึ่งภาคเอกชนได้มีการเสนอให้มีการก่อสร้างลงมาถึง จ.สงขลา ซึ่งที่ประชุมได้รับไว้พิจารณา
ขณะที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในจ.ชุมพร จะเร่งพัฒนาโครงการท่าเรือ เพื่อให้เกิดเส้นทางการค้าขนส่งทางเรือในภูมิภาค จ.สุราษฎร์ธานี และจ.นครศรีธรรมราช เร่งพัฒนาด้านการเกษตร เพราะมีการปลูกปาล์ม และยางพารา ส่วนจ.ชุมพร พัฒนาด้านการท่องเที่ยว และสินค้าเกษตร โดยรวมเป็นระเบียงเศรษฐกิจภายใต้ เชื่อมโยงกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
“รัฐบาลจะเร่งผลักดันโครงการรถไฟทางคู่เชื่อมโยงจากอีอีซี ถึงชุมพรและระนอง ซึ่งเป็นระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เป็นงานระยะแรกที่รัฐบาลตั้งใจทำ รวมทั้งการก่อสร้างและพัฒนาถนนเลียบชายฝั่งอ่าวไทย (Thailand Riviera) เพื่อพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเลียบชายฝั่ง ที่อยู่ในขั้นตอนการขับเคลื่อน ถ้า 2 โครงการนี้สำเร็จ จะพลิกโฉมการพัฒนาภาคใต้ ส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ดีมากขึ้น”
นายสมคิด กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงานให้ครม. รับทราบการขยายตัวเศรษฐกิจในไตรมาส 2/2561 ที่ขยายตัว 4.6% โดยครึ่งปีแรกขยายตัว 4.8% ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่เศรษฐกิจโตมากกว่า 4.5% มาถึง 2 ไตรมาส สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยพ้นจากภาวะถดถอยอย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะจากปัจจัยด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ดีกว่าที่คาด ทำให้จากนี้ไม่ต้องพึ่งพาการเติบโตของภาคการส่งออกเพียงอย่างเดียว
“ช่วงที่เหลือของปีต้องพยายามประคับประคองให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง และเติบโตไม่ต่ำกว่า 4.5% ให้ได้ โดยรัฐบาลจะเร่งปฏิรูปด้านต่างๆ เพื่อให้รากฐานเศรษฐกิจมีความแข็งแกร่ง ส่งผลต่อการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญที่รัฐบาลต้องทำ” นายสมคิด กล่าว