ทั้งนี้ มีรายงานข่าวจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า การประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ (คณะอนุฯ คนร.) ที่มี พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธาน เห็นชอบแผนการควบรวมกิจการบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังถือหุ้น 100% และประกอบธุรกิจโทรคมนาคมเหมือนกัน จึงกำหนดเป้าหมายให้ควบรวมกันให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.พ.62 โดยดำเนินการควบรวมภายใต้ พ.ร.บ.บริษัทมหาชน พ.ศ.2535 เนื่องจากทีโอทีและแคทเป็นบริษัทมหาชนแล้ว
ส่วนประเด็นข้อกฎหมายที่ยังมีความกังวลนั้น ที่ประชุมได้ให้กระทรวงดีอี และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ไปหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อสอบถามความชัดเจนในประเด็นสำคัญ เช่น กรณีข้อพิพาทฟ้องร้องระหว่างทีโอทีกับแคท และกับคู่สัญญาสัมปทาน เรื่องค่าเชื่อมโยงโครงข่ายโทรคมนาคมหรือค่าเอซี รวมทั้งกรณีสิทธิในคลื่นความถี่ที่ครอบครองโดยทีโอทีและแคทนั้น เมื่อควบรวมแล้ว สิทธิการถือครองจะยังคงอยู่ต่อไปหรือไม่ และภาษีที่จะเกิดขึ้นจากการควบรวมด้วย
ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ รมว.ดีอี ได้สอบถามเกี่ยวกับสิทธิการใช้คลื่น กรณีควบรวมทีโอทีและแคท แต่กสทช.ยังให้คำตอบที่ชัดเจน ไม่ได้ ต้องพิจารณารายละเอียดก่อน แม้ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 มาตรา 46 จะระบุว่าคลื่นความถี่เป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้รับใบอนุญาต จะโอนแก่กันมิได้