กระทรวงพาณิชย์ มอบวุฒิบัตรแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ผ่านการอบรมหลักสูตรสร้างธุรกิจเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์ (Franchise B2B) รุ่นที่ 21 พร้อมจัดงานแฟรนไชส์สร้างอาชีพ Franchise B2B โชว์ศักยภาพธุรกิจแฟรนไชส์ เพื่อต่อยอดโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ สร้างงาน - สร้างอาชีพ - สร้างรายได้ สร้างฐานที่มั่นด้านการประกอบอาชีพแก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้มีรายได้น้อย และ ผู้ว่างงาน พบกัน 26 - 27 กันยายนนี้ ที่กระทรวงพาณิชย์ สนามบินน้ำ
นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “การจัดงานฯ ในครั้งนี้ สืบเนื่องจากการที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจมีความเข้มแข็งและพร้อมที่จะขยายธุรกิจด้วยระบบแฟรนไชส์ (แฟรนไชส์โมเดล) เนื่องจากเป็นที่ยอมรับในระดับสากลว่าเป็นโมเดลการตลาดที่มีประสิทธิภาพ และสามารถช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถพัฒนาพร้อมขยายกิจการของตนเองได้อย่างรวดเร็ว ลดข้อจำกัดด้านเงินทุน ทำให้เกิดผู้ประกอบธุรกิจหน้าใหม่สามารถบริหารจัดการธุรกิจของตนเองได้อย่างง่ายดาย
กรมฯ จึงได้เปิดรับสมัครและคัดเลือกผู้ประกอบธุรกิจเพื่อเข้าอบรมหลักสูตร “การพัฒนาธุรกิจเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์ รุ่นที่ 21” ระหว่างเดือนมิถุนายน - เดือนสิงหาคม 2561 โดยมีผู้ผ่านหลักสูตรฯ จำนวน 121 ราย” แบ่งเป็นธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 74 ราย ธุรกิจค้าปลีก จำนวน 18 ราย ธุรกิจบริการ จำนวน 17 ราย ธุรกิจความงาม/สปา จำนวน 7 ราย และธุรกิจการศึกษา จำนวน 5 ราย พร้อมทั้งจัดงานแฟรนไชส์สร้างอาชีพ Franchise B2B ขึ้นระหว่างวันที่ 26 - 27 กันยายน 2561 นี้ ณ กระทรวงพาณิชย์ สนามบินน้ำ เพื่อนำเสนอศักยภาพของธุรกิจที่ผ่านหลักสูตร B2B และนำเสนอธุรกิจแฟรนไชส์ จำนวนกว่า 80 ธุรกิจ มาเป็นทางเลือกในการสร้างอาชีพ โดยแฟรนไชส์ที่เข้าร่วมงานจะเป็นแฟรนไชส์ที่ใช้เงินลงทุนไม่สูง สามารถจับต้องได้ ทำให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้มีรายได้น้อย ผู้ว่างงาน หรือผู้ที่สนใจลงทุนในระบบแฟรนไชส์แต่มีเงินไม่มากก็สามารถเลือกลงทุนและเป็นเจ้าของกิจการได้
ทั้งนี้ การสร้างงาน - สร้างอาชีพ - สร้างรายได้ให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้มีรายได้น้อย และผู้ว่างงาน ให้สามารถดำรงชีพได้อย่างมั่นคงถาวร จะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ธุรกิจแฟรนไชส์จึงถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ และความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนด้วยตนเอง เพราะมีแฟรนไชส์ซอร์ช่วยคิดวางแผนธุรกิจและการเงินให้โดยไม่จำเป็นต้องลองผิดลองถูกเอง
อธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า “การเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์ขนาดเล็กที่มีโมเดลธุรกิจไม่ซับซ้อน ใช้เงินลงทุนไม่มาก และมีแฟรนไชส์ซอร์เป็นพี่เลี้ยงช่วยดูแล จะช่วยลดความเสี่ยงแก่ผู้ประกอบการรายใหม่ที่ไม่เคยดำเนินธุรกิจมาก่อน ตลอดจนเป็นการกระตุ้น และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) ของไทย ในการเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญของระบบเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน”
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์ กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โทรศัพท์หมายเลข 0 2547 5953 e-mail : franchisedbd@gmail.com สายด่วน 1570 และ www.dbd.go.th