กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เผยญี่ปุ่นรุกขยายบริการดูแลผู้สูงอายุ ทั้งการพัฒนาบริการในญี่ปุ่นเองและออกไปลงทุนในต่างประเทศ แนะธุรกิจไทยฉวยจังหวะร่วมมือกับญี่ปุ่น ในการทำธุรกิจ หรือหาทางดึงดูดผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นให้เข้ามาพักผ่อนในไทย เหตุมีค่าครองชีพไม่สูง มีร้านค้ารองรับไลฟ์สไตล์ และมีบริการที่ดี มั่นใจทำเงินได้มากแน่
นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโอซากา ได้รายงานถึงโอกาสในการดึงดูดผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นให้เดินทางมาพักผ่อนระยะยาวที่ประเทศไทย และการเข้าไปลงทุนทำธุรกิจบริการผู้สูงอายุในญี่ปุ่นของผู้ประกอบการไทย โดยในปัจจุบัน รัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้ความสำคัญกับการมีมาตรการเข้ามาดูแลผู้สูงอายุ และผู้ประกอบการด้านต่างๆ ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุได้เริ่มที่จะลงทุนขยายธุรกิจ เพื่อรองรับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ทั้งการขยายธุรกิจในญี่ปุ่นเองและออกไปลงทุนในต่างประเทศ
ทั้งนี้ ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุของญี่ปุ่น ได้มีการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่า เริ่มมีการจำหน่ายวีดิโอเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วย เช่น วีดิโอให้ความรู้ด้านโภชนาการ ด้านสุขอนามัย เพื่อใช้เป็นสื่อการสอนผู้ดูแลผู้ป่วย และยังมีแผนวางออกจำหน่ายให้กับผู้ที่สนใจจะนำไปใช้ในการดูแลผู้ป่วย และยังมีการขยายการลงทุนออกไปยังต่างประเทศ เช่น จีน และมาเลเซีย เพื่อเปิดบริการบ้านพักคนชรา และบางบริษัท ได้มีการมาลงทุนที่กรุงเทพฯ เน้นการฝึกอบรมผู้ดูแลผู้ป่วย และเริ่มเปิดบ้านพักคนชราแบบมีค่าใช้จ่าย
“การขยายตัวของธุรกิจเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ เป็นการรองรับและแก้ไขปัญหาแบบมีการวางแผนล่วงหน้า โดยทั้งรัฐบาลและภาคธุรกิจญี่ปุ่นมองว่าจะเป็นปัญหาของประเทศ แต่หลายธุรกิจได้มองวิกฤตให้เป็นโอกาส ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ เกิดระบบการบริหารจัดการดูแลผู้สูงอายุ และยังมีการขยายการลงทุนไปยังประเทศต่างๆ ในเอเชีย เพราะรู้ว่าจะประสบปัญหาประชากรผู้สูงอายุเช่นเดียวกัน”นางสาวบรรจงจิตต์ กล่าว
นางสาวบรรจงจิตต์ กล่าวเสริมว่า เพื่อเป็นการขยายช่องทางตลาดแก่สินค้าและบริการไทย รวมทั้งยกระดับการให้บริการสู่ความเป็นเลิศอย่างต่อเนื่องจากการขยายตัวของธุรกิจดูแลผู้สูงอายุนั้น ทำให้เป็นโอกาสของไทย ที่จะดึงดูดหรือร่วมมือกับนักลงทุนญี่ปุ่นในการขยายธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทย หรือดึงดูดให้ผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่น เดินทางมาพักผ่อนที่ประเทศไทย เพราะไทยมีค่าครองชีพไม่สูง อากาศอบอุ่นตลอดทั้งปี มีร้านค้าที่รองรับไลฟ์สไตล์ของชาวญี่ปุ่น และไทยเองก็มีหัวใจในการให้บริการ ซึ่งหากประชาสัมพันธ์ให้ดีก็จะดึงดูดกลุ่มผู้สูงอายุเข้ามาได้ไม่ยาก แต่ผู้ประกอบการของไทย และผู้ให้บริการของไทยจะต้องเตรียม ความพร้อมในการให้บริการ เพราะหากทำได้ จะนำเงินรายได้เข้าประเทศได้อีกเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบว่า ในไทยยังมีธุรกิจบ้านพักคนชราหรือผู้สูงอายุที่ได้มาตรฐานเทียบเท่าประเทศญี่ปุ่นยังมีไม่มากนัก แต่ก็เริ่มมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และยังพบอีกว่า ได้เริ่มมีกลุ่มนักธุรกิจไทยที่ได้เดินทางไปศึกษาระบบการให้บริหารจัดการของญี่ปุ่นหลายราย เช่น กลุ่มธนาคารกรุงศรี ที่เคยไปดูงาน ที่โอซากาและกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจนี้
ปัจจุบันเอเชียมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยจากสถิติของสหประชาชาติ มีผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ในเอเชียในปี 2015 จำนวน 3,340 ล้านคน และปี 2050 จะเพิ่มเป็น 9,360 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 2.8 เท่าตัว และอายุวัยกลางคนจะเปลี่ยนจาก 30 ปี เป็น 40 ปี และจะมีจำนวนผู้ป่วยอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้นด้วย ส่วนเกาหลีและสิงคโปร์ในปี 2020 จะมีประชากรอายุมากกว่า 65 ปีเพิ่มเป็นสัดส่วน 14% และเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นเดียวกันกับญี่ปุ่น ขณะที่ไทยและจีน จะพบปัญหานี้ในปี2025