ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เศรษฐกิจชุมชน ย้อนกลับ
อธิบดีป้ายแดง เผยภารกิจกรมพัฒน์ฯ ปี ‘62 สอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติและกระทรวงพาณิชย์ หวังผลสำเร็จสูงสุดของงาน เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ภาคธุรกิจ และประชาชน
21 ต.ค. 2561

 อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าคนใหม่... แจงภารกิจสำคัญ 3 ด้านที่ต้องเร่งดำเนินการในปี 2562 สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์กระทรวงพาณิชย์ ....ต่อยอดอดีต ...ปรับปัจจุบัน ...สร้างคุณค่าใหม่ในอนาคต หวังผลสำเร็จสูงสุด (Outcome) ของงาน เพื่อประโยชน์ 3 ส่วน ชาติ ธุรกิจ และประชาชน ต้องมั่นคงและเติบโตไปพร้อมกัน   

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ในฐานะที่เข้ารับตำแหน่งอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าคนใหม่ ซึ่งเป็นอธิบดีของกรมฯ ลำดับที่ 28 ได้กำหนดนโยบายและหลักการทำงานของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่สอดคล้องกับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลและยุทธศาสตร์ชาติ โดยนำพื้นฐานแนวคิดของยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันที่มุ่งเน้นการยกระดับศักยภาพของประเทศในหลากหลายมิติ บนพื้นฐานแนวคิด 3 ด้านมาเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงาน คือ”

ต่อยอดอดีต มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพธุรกิจเอสเอ็มอี และไมโครเอสเอ็มอีที่เป็นรากฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยคำนึงถึงอัตลักษณ์ วิถีชีวิตของประชาชน และจุดเด่นของทรัพยากรท้องถิ่นนำมาผสมผสานกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทด้านการค้าในปัจจุบัน สามารถสร้างรายได้สู่ท้องถิ่น และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ ประกอบด้วย 1ส่งเสริมด้านการตลาดผลิตภัณฑ์โอทอป เน้นการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองแก่ลูกค้าทุกกลุ่ม โดยการบ่มเพาะและให้ความรู้การพัฒนาสินค้าโอทอป ตามแนวโอทอปนวัตวิถี เช่น การตลาดออนไลน์ การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และส่งเสริมการเข้าสู่ช่องทางการตลาดรูปแบบใหม่ รวมทั้ง ขยายความร่วมมือภาครัฐและเอกชนเพื่อขยายช่องทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศให้มากขึ้น เช่น ห้างสรรพสินค้า ท่าอากาศยาน เป็นต้น 2) เร่งพัฒนา “เว็บไซต์ของดีทั่วไทย.com” แหล่งรวมสินค้าชุมชน “ดี เด่น ดัง” จากทั่วประเทศ ที่ได้มีการเปิดตัวในปีที่ผ่านมา ให้เป็นตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Marketplace เต็มรูปแบบ เพื่อให้เป็นศูนย์กระจายสินค้าให้กับชุมชนและส่งเสริมการตลาดให้กับสินค้าชุมชน โดยร่วมมือกับ e-Marketplace อื่นๆ รวมถึง เร่งสร้างการรับรู้และให้ความรู้การทำการค้าออนไลน์ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยในพื้นที่เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าสู่ตลาด ซึ่งที่ผ่านมามีสินค้าบนเว็บไซต์ 237 รายการ และมีการให้ความรู้การค้าออนไลน์แก่ผู้ประกอบการทั่วประเทศ รวมถึงใน 10 จังหวัดยากจน กว่า 1,900 ราย และ

3) พัฒนาศักยภาพร้านธงฟ้าประชารัฐ/ร้านโชวห่วยของไทย ด้านการบริหารจัดการธุรกิจ ตั้งแต่การนำเทคโนโลยีมาใช้การสั่งซื้อสินค้า จนถึงการจัดทำบัญชีรับ-จ่าย และร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตผู้จำหน่ายรายใหญ่ เช่น บริษัท ยูนิลีเวอร์              ไทยเทรดดิ้ง จำกัด และบริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิ้ล เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ปรับภาพลักษณ์ร้านค้าเพื่อดึงดูดลูกค้า รวมถึง สร้างเครือข่ายพันธมิตรค้าส่งค้าปลีก ซัพพลายเออร์ เพื่อเกื้อกูลทางการค้าระหว่างกัน

                “ปรับปัจจุบัน” มุ่งเน้นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อการประกอบธุรกิจของประเทศ โดยตั้งเป้าพัฒนางานบริการของกรมฯ สู่การเป็น Digital Department” อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว สามารถลดต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจได้ โดยให้ความสำคัญกับการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ในลักษณะ “Big Data”มากขึ้น สร้างความโปร่งใส/ธรรมาภิบาลแก่ภาคธุรกิจ แก้ไขกฎระเบียบต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวก และสร้างความสมดุลการลงทุนของประเทศ ประกอบด้วย 1) ผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์จาก “คลังข้อมูลธุรกิจ” พัฒนาเป็นฐานข้อมูลกลางขนาดใหญ่ (Data Center) ของประเทศ ซึ่งกรมฯ มีคลังข้อมูลธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ตั้งแต่การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ การให้บริการหนังสือรับรองธุรกิจ และการนำส่งงบการเงิน โดยข้อมูลฯ นี้จะเป็นประโยชน์ต่อนักธุรกิจ นักลงทุน คู่ค้าทางธุรกิจ ตลอดจนผู้ที่ใช้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยจัดให้เป็นหมวดหมู่เพื่อให้ค้นหาได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว รวมทั้ง เชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานราชการอื่นๆ เพื่อให้เกิดเป็นฐานข้อมูลกลางภาครัฐขนาดใหญ่ของประเทศ สามารถนำไปวิเคราะห์ใช้ประโยชน์ได้ในลักษณะ “Big Data” ซึ่งเป็นข้อมูลที่จำเป็นในการกำหนดนโยบายและทิศทางสำหรับการพัฒนาทั้งในภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ ตามนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” นอกจากนี้ จะบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ เพื่อให้บริการแก่ภาคธุรกิจและประชาชนในการขออนุมัติ/อนุญาตต่างๆ เช่น ร่วมมือกับ สำนักงาน ก.พ.ร. ในการพัฒนาระบบการยื่นคำขอกลางภาครัฐออนไลน์ หรือ Biz Portal ซึ่งที่ผ่านมา กรมฯ ได้ร่วมดำเนินการสำหรับการให้บริการเปิดร้านอาหารและร้านค้าปลีก และในลำดับต่อไป ก.พ.ร.มีแผนที่จะขยายในอีก 10 ธุรกิจ รวมถึงการให้บริการเชื่อมโยงข้อมูลนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อลดภาระประชาชน ตามนโยบาย Zero Copy ให้หน่วยงานภาครัฐเชื่อมโยงข้อมูลนิติบุคคลในการตรวจสอบสถานะโดยไม่ต้องขอหนังสือรับรองฯ จำนวน 69 หน่วยงาน และพัฒนาการให้บริการข้อมูลแก่หน่วยงานภาครัฐ ตามนโยบายรัฐบาลดิจิทัล พัฒนาการแจ้งและจัดส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ และการลงลายมือชื่อนายทะเบียนด้วยลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์

                2) ยกระดับการเป็นประเทศที่ง่ายต่อการเริ่มต้นธุรกิจ พัฒนาระบบจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์      (e-Registration) ให้ง่ายต่อผู้ใช้บริการมากขึ้น เช่น การปรับปรุงการกรอกข้อมูลในระบบ และการเพิ่มช่องทางการยืนยันตัวตน การจดทะเบียนนิติบุคคลผ่านสมาร์ทโฟน เปิดให้บริการจดทะเบียนนิติบุคคล แบบ ภาษา (ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ) เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการแปลเอกสาร ลดขั้นตอนและกระบวนการรับรองเอกสารที่ประชาชนจะนำไปใช้ในการติดต่อธุรกิจการค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อย่างถูกต้องและสมบูรณ์ ภายใต้แนวคิด Easier Cheaper Faster & Smarter 3) ส่งเสริมธรรมาภิบาลภาคธุรกิจ (Corporate Governance) ซึ่งธรรมาภิบาลหรือจริยธรรมภาคธุรกิจ เป็นปัจจัยหนึ่งในการวัดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดย World Economic Forum หรือ WEF ซึ่งในปี 2562 นี้           จะประกาศให้เป็น “ปีแห่งธรรมาภิบาลธุรกิจ” อีกครั้งหนึ่ง โดยจะเน้นทั้งมาตรการป้องปรามและมาตรการส่งเสริม ได้แก่ การกำกับดูแลให้ภาคธุรกิจปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง และเร่งส่งเสริมให้นำหลักธรรมาภิบาลไปใช้ในการประกอบธุรกิจมากขึ้น รวมทั้ง จะมีการนำระบบบัญชีมาตรฐาน “DBD e-Accounting เข้ามาช่วยในการสร้างธรรมาภิบาลแก่ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีให้สามารถจัดทำบัญชีผ่านทางแอพพลิเคชั่นหรือทางออนไลน์ และสามารถนำส่งงบการเงินประจำปีได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจหรือนักลงทุนสามารถนำข้อมูลทางบัญชีที่ได้ไปช่วยในการตัดสินใจลงทุนเพิ่มเติมหรือพัฒนาธุรกิจของตนเองได้รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ จะขยายไปสู่ธุรกิจขนาดเล็ก หรือ ไมโครเอสเอ็มอีในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น ด้วยการสร้างนักบัญชีชุมชนเพื่อให้เอสเอ็มอี และ ไมโครเอสเอ็มอี เห็นถึงความสำคัญของการจัดทำบัญชี การอ่านงบการเงิน และการใช้ประโยชน์จากงบการเงิน ทำให้เข้าใจสถานะของธุรกิจและบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบมากขึ้น 4) ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุนด้วยกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ โดยให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจเพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเอสเอ็มอี การให้ความรู้และพัฒนาศักยภาพการเป็นผู้บังคับหลักประกัน และการพิจารณาเพิ่มทรัพย์สินอื่นมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากการใช้ประโยชน์จากการใช้กฎหมายฯ ฉบับดังกล่าว และ 5) ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจมากขึ้น เช่น พิจารณาทบทวนบัญชีท้าย พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 การปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และร่างพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่...) พ.ศ.... เป็นต้น

                สร้างคุณค่าใหม่ในอนาคต” มุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบธุรกิจ สร้างนักธุรกิจรุ่นใหม่ การพัฒนาธุรกิจรูปแบบใหม่ (New Business Model) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการ ตอบโจทย์ความต้องการตลาด เตรียมพร้อมสู่การแข่งขันในระดับสากล ประกอบด้วย 1) พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ ตามขั้นของการเติบโต ตั้งแต่ผู้ที่สนใจจะประกอบธุรกิจ และผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจให้มีความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurships) ปรับกระบวนการทางความคิด (Mindset) พร้อมกับให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จากผู้ประกอบการทั้งที่ประสบความสำเร็จและประสบปัญหา ในส่วนของผู้ที่ประกอบธุรกิจที่มุ่งเน้นการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการด้วยความคิดสร้างสรรค์ และการสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ กรมฯ จะมีหลักสูตรการพัฒนาฯ ทั้งในชั้นเรียน และผ่านระบบ e-Learning 2) พัฒนาธุรกิจบริการที่มีมูลค่าสูง ยังคงให้สำคัญกับการพัฒนาศักยภาพฐานบริการเดิมตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 12 ได้แก่ ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ ธุรกิจบริการสุขภาพ (ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ) ธุรกิจบริการอสังหาริมทรัพย์ (ธุรกิจบริหารทรัพย์สิน) ธุรกิจบริการที่เชื่อมโยงกับท่องเที่ยว (ร้านอาหาร บริการที่พักที่มิใช่โรงแรม โฮมสเตย์) และธุรกิจบริการที่สามารถลดข้อจำกัดในการประกอบธุรกิจและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว ได้แก่ ธุรกิจแฟรนไชส์ พร้อมทั้งพัฒนาฐานบริการใหม่ ได้แก่ บริการวิชาชีพ (นักบัญชี/สำนักงานบัญชี) โดยแนวทางการพัฒนาจะมุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อยกระดับการบริหารจัดการให้มีมาตรฐานระดับสากล การสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าและบริการ และการปรับโมเดลธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในยุคดิจิทัล

                3) ส่งเสริมการใช้ช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Commerce ด้วยการสร้างผู้ประกอบธุรกิจ e-Commerce รายใหม่ และพัฒนาผู้ประกอบธุรกิจ e-Commerce รายเดิม สร้างความน่าเชื่อถือด้วยการออกเครื่องหมายยืนยันความมีตัวตน DBD Registered และเครื่องรับรองความน่าเชื่อถือ DBD Verified รวมถึง กระตุ้นโอกาสทางการตลาดธุรกิจ e-Commerce 4) สร้างเครือข่ายระหว่างธุรกิจ Tech Startup และ SME เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้ Tech Startup ได้เข้าใจปัญหาธุรกิจของเอสเอ็มอี ขณะที่ธุรกิจเอสเอ็มอีได้เลือกใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ รวมทั้งปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจใหม่ๆ อย่างเหมาะสม เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ สนับสนุนให้เกิดการเจรจาธุรกิจระหว่าง Tech Startup กับ นักลงทุน (Venture Capital) เพื่อสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ ส่งเสริมการขยายการลงทุน และกระตุ้นการเกิดใหม่ของธุรกิจ Tech Startup ซึ่งในปัจจุบัน มีธุรกิจ Tech Startup ที่ร่วมกิจกรรมกับกรมฯ แล้ว จำนวน 227 ราย

                อธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ทั้งนี้ การทำงานในทุกๆ ภารกิจจะให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์กระทรวงพาณิชย์เป็นหลัก และหวังผลสัมฤทธิ์ (Outcome) ของงานเป็นที่ตั้ง โดยให้ความสำคัญกับการบูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน สร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย พร้อมรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา เพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จขององค์กร และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติ ภาคธุรกิจ และประชาชน โดยทั้ง 3 ส่วนต้องมีความมั่นคงและเติบโตไปพร้อมๆ กัน ด้วยความแข็งแกร่ง

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...