ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เศรษฐกิจชุมชน ย้อนกลับ
ธนาคารที่ดินมึนอยู่กับงบ 690 ล้าน งานมหาหินปั้นที่ทำกินให้เกษตรกร
31 ต.ค. 2561

* ดึง อปท. เปิดสาขา ธ.ที่ดิน

          นายขจรศักดิ์ เจียรธนากุล ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (มหาชน) เปิดเผยในงานเสวนา "ใครจะได้อะไรจากการตั้งธนาคารที่ดิน" ว่า บทบาทของธนาคารที่ดินจะมีหน้าที่หลักในการบริหารจัดการซื้อหรือเช่าระยะยาวบนพื้นที่ของเอกชน เพื่อจัดสรรให้เกษตรกรและผู้ยากจนสามารถเข้าถึงและใช้ที่ดินทำการเกษตรกรรมบนพื้นที่เหล่านั้นได้ ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบันทางธนาคารที่ดิน ยังไม่มีผลงานที่เป็นรูปธรรมมากนัก แต่ก็ได้มีการดำเนินการเพื่อให้เป็นต้นแบบของการจัดสรรที่ดินให้กับเกษตรกรมาแล้ว อย่างเช่นการเข้าไปจัดสรรที่ดินในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดนครราชสีมา แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของธนาคารที่ดินในการช่วยเหลือเกษตรกร ตามแนวทางที่วางไว้

          ซึ่งในการดำเนินการของธนาคารที่ดินนั้น ยังได้มีเป้าหมายในการร่วมมือกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เช่น อบต. อบจ. และเทศบาล ในลักษณะของภาคีเครือข่าย เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะรู้สภาพปัญหาของเกษตรกรในพื้นที่และรู้จักพื้นที่ได้ดี ทุกซอกทุกมุม ซึ่งเมื่อมีความร่วมมือเกิดขึ้นก็จะเป็นการกระจายความช่วยเหลือของธนาคารที่ดินไปสู่เกษตรกรหรือประชาชนฐานรากได้ดียิ่งขึ้น

           “ทั้งนี้ในเรื่องปัญหาที่ดินของเกษตรกรนั้น ที่ผ่านมามีหน่วยงานที่บริหารกระจายถือครองที่ดินในส่วนภาครัฐแล้ว เช่น สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยใช้ที่ดินภาครัฐมาบริหารและกระจายไปให้แก่เกษตรกรเพื่อสำหรับใช้เป็นที่ดินในการทำมาหากินด้านเกษตรกรรม ดังนั้นธนาคารที่ดินจึงมีเป้าหมายสำคัญในการบริหารจัดการที่ดินของฝั่งเอกชนให้กระจายไปสู่เกษตรกรหรือผู้ยากจน เพื่อให้ครบทุกมิติ” ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (มหาชน) กล่าว

 

* ธนาคารที่ดินม้าขาวของเกษตกร

             ขณะที่ ผศ.อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์ อาจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในช่วงปี 2540 เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจมีการลดค่าเงินบาท ที่ดิน เกิดการทิ้งร้างมากมาย โดยไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์อะไรเลย ส่งผลให้เกิดความเสียทางเศรษฐกิจกว่า 1.2 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งผลจากการวิจัยพบว่าปัญหาเศรษฐกิจในปี 2540 นั้น เหตุเกิดขึ้นได้ ส่วนหนึ่งมาจากการบริหารจัดการที่ดินได้ไม่ดีพอ จึงได้มีแนวคิดที่จะจัดตั้ง สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน(องค์การมหาชน) หรือ บจธ. ขึ้นมา โดยคาดหมายว่าภายใน 5 ปี จะสามารถก่อตั้งได้สำเร็จ

            แต่เนื่องจากปัญหาทางการเมืองในปี พ.ศ. 2554 เกิดการยุบสภา ส่งผลให้การขับเคลื่อนธนาคารที่ดินไม่ต่อเนื่องและไม่สามารถเกิดขึ้นได้ มีความยืดเยื้อมานานหลายสิบปี ทำให้ตอนนี้เครื่องมือที่รัฐมีอยู่ในการบริหารจัดการที่ดิน จึงมีแค่ สำนักงานปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการที่ทำเรื่องที่ดินอันเกี่ยวกับทรัพย์สินและหน้าที่ตามภารกิจของหน่วยงานที่ตนเองรับผิดชอบ เป็นต้น

            ทั้งนี้เนื่องจากด้วยอำนาจหน้าที่หรือเครื่องมือที่มีอยู่จะเป็นการจัดสรรที่ดินให้กับเกษตรกรก็คงไม่ถูกนัก เช่น ส.ป.ก. ที่ดูแลช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาผู้ที่บุกรุกป่าไม้ไม่ให้ผิดกฎหมาย โดยอนุญาตและจัดสรรให้เกษตรกรเข้าไปอยู่อาศัยได้ ซึ่งมาตรการนี้ถือเป็นมาตรการชั่วคราว นอกจากนี้พื้นที่ ส.ป.ก.เข้าไปดูแลหรือบริหารจัดการได้นั้นจะอยู่ในบริเวณที่ได้ประกาศให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินแล้วเท่านั้น

             “แต่หากเกษตรกรอยู่ทำกินนอกเหนือจากพื้นที่ดังกล่าว เกษตรกรก็จะไม่ได้รับการช่วยเหลือ โจทย์สำคัญจึงอยู่ที่ว่า เราจะช่วยเหลือเกษตรกรที่อยู่นอกเขตปฏิรูปที่ดินได้อย่างไร เนื่องจากนอกเขตพื้นที่ปฏิรูปที่ดินยังมีเกษตรกรอีกมากมายที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ เราจึงต้องสร้างระบบการจัดการปัญหาที่ดินได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งคำตอบนั้นคือ ธนาคารที่ดิน”

              ผศ.อิทธิพล กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ไม่ต้องกังวลว่าธนาคารที่ดินซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่นี้ จะไปซ้ำซ้อน เพราะธนาคารที่ดินมีบทบาทในการบริหารที่ดินที่แตกต่างกับ ส.ป.ก.อย่างชัดเจน โดย ส.ป.ก. บริหารจัดการในพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน ซึ่งพื้นที่ปฏิรูปประกาศเป็นบางส่วน ส่วนที่นอกเหนือพื้นที่ปฏิรูปที่ดินก็จะเป็นหน้าที่ของธนาคารที่ดินในการเติมเต็มในการช่วยเหลือเกษตรกรเกี่ยวกับพื้นที่ทำกินให้ครบทุกมิติ

              “ธนาคารที่ดินน่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยเหลือเกษตรกรและตอบโจทย์ในทุกมิติกับการบริหารที่ดินได้ดีที่สุด เนื่องจากเป็นองค์การมหาชน ตามพระราชกฤษฎีกา ซึ่งให้อำนาจมากมายทำ มีความอิสระในการดำเนินงาน ไม่ว่าจะกู้เงิน ออกพันธบัตร เป็นต้น เพียงแต่ต้องมีจินตนาการซักหน่อย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือทางผู้อำนวยการธนาคารที่ดินได้มีจัดทำตลาดกลางที่ดิน ดึงผู้ที่ดินแต่ยังไม่ได้ใช้กับผู้ที่ไม่ที่ดินแต่ต้องการใช้มาเจอกัน ให้สามารถมาตกลงกันในการใช้ที่ดินนั้นๆ ถ้ารายไหนซื้อที่ดินไว้เยอะต้องการใช้ในอีก 10 ปีข้างหน้าก็ฝากที่ดินไว้กับธนาคารที่ดิน เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ก่อนได้ ซึ่งผลประโยชน์ที่ได้ของเอกชนนั้นคือเรื่องของภาษีที่สองปีจะออกกฎหมาย ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ก็จะเป็นประโยชน์ในอนาคต ส่วนเกษตรกรก็มีพื้นที่ทำกิน ส่วนภาครัฐก็ไม่ต้องปวดหัวกับปัญหาคนบุกรุกป่า” ผศ.อิทธิพล กล่าวปิดท้าย

 

* ธนาคารที่ดินเกิดยาก เกษตรกรระส่ำ

                  ทางด้าน นายประยงค์ ดอกลำใย กรรมการผู้แทนองค์กรชุมชน คณะกรรมการ บจธ. กล่าวว่า ในอดีตเกษตรกรไทยทำนาแบบผ่ากึ่ง กล่าวคือ พื้นที่ส่วนใหญ่ตกเป็นของนายทุน หากเกษตรกรจะเข้าไปใช้พื้นที่ปลูกข้าว ก็จะต้องแบ่งรายได้ครึ่งหนึ่งไปให้เจ้าของพื้นที่ ทำให้รายได้ไม่เพียงพอ เกิดปัญหาหนี้สิน และส่งผลให้ราคาข้าวตกต่ำ จนเกิดการรวมตัวกันของเกษตรกรชาวนาเมื่อปี พ.ศ. 2517 เพื่อเรียกร้อง 4 หมวด คือ 1.ค่าเช่านา 2.พื้นที่ทำกิน 3.หนี้สิน และ 4.เรื่องราคา จนเกิดการผลักดัน พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม แต่ภายใต้กฎหมายทั้งสองฉบับนี้ ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ปัญหาของเกษตรกรก็ยังคงมีอยู่

                จนเมื่อปี พ.ศ.2551 ทางรัฐบาลหลายพรรค ได้มีการกล่าวถึงการกระจายการถือครองที่ดินและสร้างความเป็นธรรมให้กับเกษตรกรและผู้ยากจนในการสร้างที่ทำกินอย่างต่อเนื่องผ่านธนาคารที่ดิน แม้แต่ปีพ.ศ. 2557 รัฐบาลยุคของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ประกาศออกมาว่าภายใต้การทำงานของรัฐบาลชุดนี้ จะมีการปรับปรุงกลไกทางภาษี เพื่อปรับปรุงการกระจายถือครองที่ดินและการรับรองสิทธิร่วมในการถือครองที่ดินของชุมชน กำหนดรูปแบบที่เหมาะสมของ

                 ธนาคารที่ดิน ซึ่งตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าได้มีแรงผลักดันจากรัฐบาลในการจะแก้ปัญหาการถือครองที่ดินเพื่อเกษตรกรและผู้ยากจน แต่การช่วยเหลือเรื่องปัญหาที่ดินทำกินหรือธนาคารที่ดินก็ยังไม่เกิดเป็นรูปธรรมซักที

                 “10 ปีที่ผ่านมาปัญหาของการจัดตั้งธนาคารที่ดินที่มีความล่าช้า มาจากนโยบายการเงินการคลังของรัฐบาล ซ่งยังมีความคิดที่แบบเดิมๆ นั้นคือรัฐบาลเป็นผู้บริโภค กล่าวคือ เก็บภาษีที่ได้เท่าไหร่ก็ประมาณการณ์การใช้จ่ายไปเท่านั้น ขณะที่การจัดตั้งหน่วยงานช่วยเหลือหรือเกี่ยวกับสวัสดิการของประชาชนจะมีข้อโตแย้งอยู่เสมอ ส่วนหนึ่งมาจากความกังวลด้านภาระงบประมาณ เห็นได้จากการก่อตั้งธนาคารที่ดิน มักจะถูกถามเสมอว่าการก่อตั้งจะไม่เป็นภาระงบประมาณแผ่นดินได้อย่างไร ตั้งธนาคารที่ดินโดยจะพึ่งตนเองได้อย่างไร พร้อมกับการประวิงเวลามาอย่างต่อเนื่อง จนท้ายที่สุดเมื่อถูกกดดันมากๆ จึงได้ให้งบประมาณ 690 ล้านบาท ในการดำเนินการในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งด้วยการทำงานที่ช่วยเหลือประชาชนจำนวนมากกับงบประมาณที่จำกัด มันค่อนข้างจะไม่เป็นธรรมเท่าไหร่นัก” ประยงค์ กล่าว

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...