ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) รักษาการแทน ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กทท.เตรียมจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษาแผนการพัฒนาการเดินเรือขนส่งสินค้าจากท่าเรือระนองเชื่อมโยงไปยังประเทศในกลุ่มประเทศบิมสเทค (BIMSTEC) ซึ่งมีสมาชิก 7 ประเทศ คือ บังกลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย พม่า เนปาล ภูฎาน และไทย โดยอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการจ้างที่ปรึกษาศึกษารายละเอียดใน 2-3 เดือน คาดว่าจะได้ความชัดเจนในอีก 6 เดือน
ทั้งนี้ เบื้องต้นได้คัดเลือกท่าเรือที่มีความเหมาะสมจำนวน 3 แห่งในการศึกษาเดินเรือเชื่อมกับท่าเรือระนอง ได้แก่ ท่าเรือจิตตะกอง ประเทศบังกลาเทศ, ท่าเรือเชนไน ประเทศอินเดีย และท่าเรือโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา โดยหลังจากศึกษาประเมินความเหมาะสมของท่าเรือที่มีความพร้อมได้แล้วจะมีการเจรจาเพื่อทำความตกลงและทำบันทึกความร่วมมือ (MOU) ร่วมกัน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 1 ปี หรือภายในปี 2563 จึงจะสามารถเปิดเดินเรือเชื่อมกันได้
สำหรับรูปแบบจะเป็นการเดินเรือเลียบชายฝั่งในการเริ่มต้น เนื่องจากเห็นว่าควรใช้เรือขนาดไม่ใหญ่มากเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและลงทุนไม่สูงเกินไป โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้กระทรวงคมนาคมวางแผนเชื่อมการขนส่งทางถนนและรางจากท่าเรือระนองกับท่าเรือชุมพรเพื่อเชื่อมการขนส่งระหว่างฝั่งอันดามันกับอ่าวไทย และเชื่อมไปที่ท่าเรือแหลมฉบังและพื้นที่ EEC เพื่อเป็นโครงข่ายและเพิ่มมูลค่าทางการค้าของประเทศ
สำหรับความคืบหน้าการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพนั้น ขณะนี้ กทท.ได้ดำเนินการปรับปรุงแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ ขณะที่คาดว่าจะมีการจัดตั้งบริษัทลูกบริหารสินทรัพย์เพื่อพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์เป็นรูปธรรมในปี 2561โดยมีแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพจะมีการใช้ประโยชน์ที่ดิน 2,353 ไร่ คาดมูลค่าลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ประกอบด้วย พื้นที่ท่าเรือในเขตรั้วศุลกากร 943 ไร่, พื้นที่นอกเขตรั้วศุลกากรที่การท่าเรือฯ ใช้ประโยชน์ 118 ไร่, พื้นที่หน่วยงานรัฐขอใช้ 218 ไร่, พื้นที่หน่วยงานรัฐเช่า 160 ไร่, พื้นที่เอกชนเช่าเชิงพาณิชย์ 313 ไร่, พื้นที่เอกชนเช่าเพื่อสังคม 203 ไร่, พื้นที่ชุมชนแออัด 198 ไร่, พื้นที่ทางสัญจร 200 ไร่