กสม. ขอแสดงความเสียใจต่อการสูญเสีย “เพชรมงคล ป.พีณภัทร” นักกีฬามวยเด็ก ย้ำทุกภาคส่วนต้องไม่นิ่งนอนใจต่ออันตรายจากการชกมวยในวัยเด็ก เสนอแก้ไขกฎหมายกีฬามวย ให้สอดคล้องอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
วันที่ 14 พฤศจิกายน 2561 นางฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานด้านสิทธิผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก การศึกษา และการสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่โลกออนไลน์มีการเผยแพร่เรื่องราวสลดที่เกิดขึ้นกับนักมวยเด็กรายหนึ่ง คือ “เพชรมงคล ป.พีณภัทร” (ด.ช.อนุชา ทาสะโก) วัย 13 ปี ซึ่งเสียชีวิตจากอาการเลือดคั่งในสมองจากการขึ้นชกมวยที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า ตนขอแสดงความเสียใจเป็นอย่างยิ่งต่อครอบครัวของ นักมวยเด็กคนดังกล่าวจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักจากการชกมวย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นกรณีตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นปัญหาของการชกมวยในวัยเด็กที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ โดยเฉพาะการบาดเจ็บทางสมองที่ก่ออันตรายถึงแก่ชีวิต
นางฉัตรสุดา ระบุว่า ความเสี่ยงต่อชีวิตและการได้รับบาดเจ็บทางร่างกายที่นักมวยเด็กต้องเผชิญ เป็นปัญหาที่ทุกภาคส่วนรวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในแวดวงกีฬามวยต้องให้ความสำคัญและไม่นิ่งนอนใจ เนื่องจากกีฬามวยเด็กถือว่าขัดต่อหลักการของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child - CRC) ซึ่งระบุว่า เด็กเป็นกลุ่มเปราะบางของสังคม จะต้องได้รับการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานให้มีชีวิตรอด และต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการถูกทำร้าย การล่วงละเมิด และการแสวงหาประโยชน์ในทุกรูปแบบ นอกจากนี้การชกมวยเด็กที่เป็นลักษณะมวยอาชีพและได้รับค่าตอบแทน ยังขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 26 (6) ที่ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการใช้ จ้าง หรือวานเด็กให้ทำงาน หรือกระทำการอันอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต หรือขัดขวางต่อพัฒนาการของเด็ก และ (7) ที่ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการบังคับ ขู่เข็ญ ใช้ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กเล่นกีฬา หรือให้กระทำการใด เพื่อแสวงหาประโยชน์ทางการค้าอันมีลักษณะเป็นการขัดขวางต่อการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของเด็กหรือมีลักษณะเป็นการทารุณกรรมต่อเด็ก
อย่างไรก็ดี เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ตนเห็นว่าการชกมวยของเด็กควรมีการป้องกันการบาดเจ็บบริเวณศีรษะ ทั้งนี้ ขอเสนอให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. 2542 ให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 หลักการของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ฉบับที่ 138 และ 182) ที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้ เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รับความคุ้มครองในชีวิตและร่างกาย มีพัฒนาการการเติบโตที่สมบูรณ์แข็งแรง และไม่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์อันน่าสลดเช่นนี้อีก