น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะโฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ชี้แจงถึงข้อวิจารณ์ พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ จากกรณีที่นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสศาลอุทธรณ์ วิจารณ์เนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ที่ถูกแก้ไขเพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ว่า เนื้อหาประเด็นสำคัญไม่มีความแตกต่างไปจากร่างฯ เดิม พร้อมชี้ให้เห็นถึงอันตราย 8 ด้าน ของร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ในประเด็นทำลายประชาธิปไตยและหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทำให้กระบวนการยุติธรรมล้มเหลว ส่งเสริมให้เกิดรัฐตำรวจ ปราบปรามศัตรูทางการเมือง เป็นต้น
สำหรับข้อกังวลจากภาคส่วนต่างๆ นั้น ได้มีการปรับปรุงร่างกฎหมายนี้ โดยเน้นหลักการไม่ให้ขัดแย้งกับกฎหมายอื่นที่มีอยู่แล้ว รวมทั้งช่วยสนับสนุนให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ และสอดคล้องตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิบัติงาน บุคลากร กรอบงบประมาณ เพื่อดูแลปกป้องหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ให้สามารถให้บริการต่อเนื่อง โดยเฉพาะการกำหนดกลไกให้มีการถ่วงดุลของผู้ใช้อำนาจตามกฎหมายนี้ ที่ต้องผ่านการเห็นชอบจากศาล ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากลและตามหลักแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามกระบวนการยุติธรรม โดยมิได้มุ่งหมายหรือมีเจตนาเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือรุกล้ำเสรีภาพส่วนบุคคลแต่อย่างใด
ทั้งนี้ กระทรวงฯ มีการดำเนินการร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการเตรียมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งชาติ ร่วมกันปรับปรุงร่างกฎหมายนี้ในประเด็นข้อห่วงใย 7 ประเด็น ได้แก่ วันมีผลบังคับใช้ ขอบเขตของกฎหมาย ความซ้ำซ้อนและการเชื่อมโยงกับกฎหมายอื่น คำนิยาม องค์กร หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ (CII) การรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ และบทกำหนดโทษ รวมทั้งได้ประชุมหารือเชิงหลักการร่วมกับส่วนราชการ 20 กระทรวง ฝ่ายความมั่นคงของชาติ และภาคเอกชน รวมทั้งภาคประชาสังคม เป็นต้น รวมถึงกระทรวงฯ ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างฯ ปรับปรุงเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ทางเว็บไซต์ฯ ซึ่งเป็นไปตามกรอบรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่วันที่ 16-30 พฤศจิกายน 2561
ปัจจุบันกระทรวงฯ ได้ตั้งคณะทำงาน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยได้ประชุมไปเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน เพื่อพิจารณาปรับปรุงร่างฯ ให้เป็นไปตามความเห็นจากทุกภาคส่วน คาดว่าจะแล้วเสร็จและเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ภายในเดือนธันวาคมนี้