เตรียมชง ครม.ศึกษาการลงทุนท่าเรือระนอง-รถไฟทางคู่ เชื่อม SEC-EEC วงเงิน 20,000ล้าน ลุ้นเสร็จกลางปีหน้า
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรองประธานกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยเมื่อไม่นานมานี้ว่า ในเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ค.ร.ม.) พิจารณาหลักการโครงการพัฒนาท่าเรือ จ.ระนอง และรถไฟทางคู่เชื่อมต่อจ.ระนอง-ชุมพร ภายใต้โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) ซึ่งคาดว่าหากผ่าน ครม.แล้ว จะดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนให้ได้ข้อสรุปในกลางปี 2562 และคาดว่าจะใช้เม็ดเงินลงทุนรวมประมาณ 20,000 ล้านบาท หรือโครงการละประมาณ 10,000 ล้านบาท
“ขณะนี้ทางสภาพัฒน์เตรียมการไว้แล้ว SEC จะต่างจากโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC) เพราะ EEC จะเน้นอุตสาหกรรมระดับสูงแต่ SEC จะนำการลงทุนไปยัง 4 จังหวัดที่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เป็นการเปิดประตูสู่ภาคใต้ จะเน้นไปที่เรื่องที่จุดเด่นของภาคใต้ เช่น การพัฒนาป่าชายเลน ศุนย์วิจัยปาล์ม ยาง การทำประมงชายฝั่ง ซึ่งไม่เพียงการเชื่อมโยงรถไฟทางคู่ในพื้นที่ดังกล่าว แต่รัฐบาลจะมีการเปิดในเมืองใหม่ อาทิ เชียงของ บ้านไผ่ มุกดาหาร ด้วย”
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะช่วยเชื่อมโยงเส้นทางการค้าจากอีอีซีผ่านรถไฟรางคู่ไปสู่ท่าเรือระนอง-ท่าเรือเมียนมา ต่อเข้าสู่ประเทศอินเดีย โดยจะสามารถลดระยะเวลาการขนส่งจาก 12-25 วันเหลือ 4 วัน และสามารถเชื่อมต่อไปยังศรีลังกา และบังคลาเทศ ทั้งยังจะเป็นการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าจากกลุ่มประเทศในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกสู่มหาสมุทรอินเดีย นอกจากนี้รัฐบาลได้พยายามผลักดันโครงการไทยแลนด์ริเวียร่า
อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่า แม้ว่ากว่าโครงการนี้จะเสร็จสิ้นกลางปีหน้า ซึ่งน่าจะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลใหม่ก็จะไม่ทำให้โครงการสะดุด เพราะโครงการนี้ให้ประโยชน์ทำให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งไม่ว่ารัฐบาลใดจะเข้ามาก็น่าจะเดินหน้าต่อ
นายกอบศักดิ์ กล่าวถึงความคืบหน้าในการลงทุน 5 โครงการสำคัญในอีอีซีด้วยว่า รัฐบาลจะดำเนินการหาข้อสรุปเรื่องการประมูลและสัญญาการก่อสร้างตามแผนการลงทุนโครงการทั้งหมดให้เสร็จก่อนที่จะมีรัฐบาลใหม่ โดยรัฐบาลใหม่เข้ามาจะสามารถสานต่อการดำเนินการก่อสร้างและชำระเงินตามแผนการลงทุนได้ทันที
“ขณะนี้ได้เปิดให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมยื่นซองโครงการถไฟไฮสปีดไปแล้ว 2 วันก่อน อยู่ระหว่างการพิจารณาคาดว่าจะได้ข้อสรุปในรัฐบาลนี้ จุดสำคัญคือการพัฒนาเมืองใหม่บริเวณจุดจอด หรือ TOD ซึ่งขณะนี้วางไว้ 3-4 จุด เช่น พัทยา อูตะเภา และมีเอกชนให้ความสนใจ 3-4 ราย อยู่ในกระบวนการ”
ส่วนของโครงการสนามบินอู่ตะเภากำลังทำ TOR มีเป้าหมายจะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการบินและศูนย์ซ่อมเครื่องบิน คล้ายสนามบินฮ่องกง หรือสนามบินอินฌอนเกาหลีใต้ที่มี “ซองโด”เป็นแหล่งท่องเที่ยว และท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งจะเป็นจุดสำคัญในการเชื่อมโยงสินค้าจากจีนตะวันตก อินโดจีน เรามองจากทาเรือในเนเธอร์แลนด์ มีมีการพัฒนาอย่างน่าสนใจ
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า หากอีอีซีสำเร็จจะเป็นทางเลือกที่ 3 ที่มีความน่าสนใจในการลงทุนจากต่างชาติ ซึ่งจะช่วยให้ไทยสามารถดึงดูดการลงทุน บริษัท Head Quarter จากประเทศสิงค์โปร์ให้หันมาในไทยมากขึ้น เพราะด้วยไทยมีศักยภาพด้านเมนูเฟคเจอริ่ง ตลาด และนักลงทุนสามารใช้ชีวิตในประเทศไทยได้อย่างมีความสุข และทั้งยังมีความพร้อมในระบบโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือ สนามบิน รถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ และยังสามารถเชื่อมโยงกับประเทศ CLMV + T ซึ่งมีประชากรมากกว่า 230 ล้านคน และ บังคลาเทศและศรีลังกากว่า 130 ล้านคน รวมกว่า 400 ล้านคน
“ต่อไปหากนักลงทุนคิดถึงเอเชียต้องคิดถึง EEC การพัฒนาตั้งแต่แหลมฉบัง สัตหีบ มาถึงมาบตาพุด 150 ตร.ม. จะถูกพัฒนาเป็นกรุงเทพใหม่ หรือ กรุงเทพแห่งที่ 2 ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปในอีก 20 ปีข้างหน้า”
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยว่า
รัฐบาลจะเดินหน้าโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ทั้ง 5 โครงการตามแผน โดยคาดว่าจะได้รายชื่อบริษัทผู้ชนะการประมูลภายเดือน ก.พ. 2562 ใช้เวลาก่อสร้าง 3-5 ปี โดยโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการสนามบินอู่ตะเภา จะแล้วเสร็จพร้อมกันในช่วงต้นปี 2566 ซึ่งคาดว่าภายใน 5 ปี สนามบินอู่ตะเภาจะขยายไปเป็นเมืองการบินได้ ซึ่งหลังจาก 2 โครงการนี้เสร็จ ก็จะเกิดการขยายเมืองใหม่ตามมา
“โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่เช่นนี้ในอดีตต่างชาติจะเป็นผู้นำในการลงทุน และมีบริษัทไทยเป็นผู้ตาม แต่ในขณะนี้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินผู้ประมูลหลักจะเป็นบริษัทของคนไทยเป็นผู้นำ และไปจับมือต่างชาติเข้ามาร่วมเป็นพันธมิตร ซึ่งตรงกับความต้องการของ อีอีซี ที่ต้องการใช้เงินของไทย และบริษัทไทยเป็นผู้ลงทุน ทำให้ผลประโยชน์ตกลงสู่ประเทศไทยมากที่สุด”