นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยกระทรวงคมนาคม ในฐานะผู้ดูแลโครงการเมกะโปรเจ็กต์เชื่อมเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวบรรยายหัวข้อ EECI : Smart Connectivity in All Aspect : What’s Next for Thailand ในงาน TMA Thailand Management Day 2018 ภายใต้คอนเซ็ปต์ Smart Connectivity: The Opportunities and Challenges จัดโดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย เมื่อเร็วๆ นี้ว่า การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทยมีทั้งระบบรางและอื่นๆ ทั้งทางอากาศ ทางน้ำ เพียงแต่ระบบรางจะเห็นชัดมาก ขณะที่การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หัวใจสำคัญอยู่ที่การลงทุนเพื่อสร้างโครงข่ายการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ที่สมบูรณ์ ระหว่างถนน ระบบราง เรือ และอากาศ เชื่อมโยงกรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี แหลมฉบัง พัทยา สัตหีบ อู่ตะเภา มาบตาพุด และระยองเข้าด้วยกัน ตลอดจนเชื่อมต่อไปยังพื้นที่ต่างๆ รอบประเทศ โดยจะลงทุนโครงการสำคัญต่างๆ
เช่น 1. โครงการท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง ช่วงที่ 3 มูลค่าการลงทุนกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ รองรับคอนเทนเนอร์กว่า 18 ล้านทีอียู ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ มีเรือแม่ขนาดใหญ่ความยาวเกือบ 400 เมตร บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ได้ครั้งละ 14,000 ตู้ เดินทางเข้ามารับสินค้า ณ ท่าเรือแหลมฉบังเป็นครั้งแรก จากเดิมจะรับที่สิงคโปร์ ซึ่งต่อไปจะเข้ามาเรื่อยๆ และท่าเรือเฟส 3 จะรองรับเรือขนาด 400 เมตรได้ จะกลายเป็นจุดสำคัญของการขนส่งทางเรือ เป็นท่าเรือสำคัญของโลกแห่งหนึ่ง และส่งผ่านระบบรถไฟรางคู่ได้
2. การสร้างรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง ที่จะเชื่อมระยองและท่าเรือแหลมฉบังเข้ากับกรุงเทพฯ และภาคส่วนอื่นๆ ของประเทศมูลค่าการลงทุนประมาณ 6.5 พันล้านดอลลาร์ 3. โครงการพัฒนาท่าเรือจุกเสม็ดที่สัตหีบ ให้เป็นท่าเรือที่รองรับเรือสำราญขนาดใหญ่และเรือ Ferry ครั้งละหลายๆ ลำ เชื่อมโยงภาคตะวันออกของไทยไปยังหัวหิน ชะอำในเวลา 1 ชั่วโมงเศษ และเชื่อมโยงไปยังกรุงเทพฯ 4. ทางอากาศ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา รองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคน จากสุวรรณภูมิและดอนเมืองที่จำนวนผู้โดยสารล้นความสามารถรองรับ โดยจะมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อกัน 3 สนามบิน ให้ผู้โดยสารเลือกได้ว่าจะลงที่ไหน ซึ่งเมืองใหญ่ทั่วโลกต้องมีมากกว่า 1 สนามบิน
นายไพรินทร์ กล่าวอีกว่า ความสำเร็จของการขนส่ง รถ เรือ ราง เครื่องบิน คือต้องเปลี่ยนผ่านโดยไร้รอยต่อ ยกตัวอย่าง หมอชิตมีรอยต่อ ไม่ถูกจริตคนรุ่นใหม่ จึงไม่ได้รับความนิยม ดังนั้น ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน (Phaholyothin Transport Center) ซึ่งจะสร้างเสร็จอีก 2 ปีข้างหน้า มีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของกรุงเทพมหานคร เชื่อมโยงการเดินทางทั้งระบบถนน ระบบราง ที่สถานีกลางบางซื่อถูกกำหนดให้เป็นศูนย์กลางการเดินทางของประเทศ เป็นสถานีต้นทางของรถไฟทางไกลและรถไฟความเร็วสูง แทนสถานีหัวลำโพง และเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายไปสู่รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงซึ่งเป็นสายที่ยาวมาก รถไฟฟ้าใต้ดินและรถไฟฟ้าบีทีเอส รวมถึงเชื่อมโยงกับ Airport Rail Link ระหว่างท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิ เชื่อมต่อกรุงเทพมหานครกับพื้นที่ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภูมิภาคอาเซียน รวมถึงจีน ผ่านเส้นทางรถไฟทางไกล รถไฟความเร็วสูง
ในศูนย์คมนาคมแห่งนี้มีอาคารยาว 660 เมตร ซึ่งยาวที่สุดในประเทศ เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงทุกขบวนจะมาจอดที่นี่ พื้นที่ใช้สอยประกอบด้วย 4 ชั้น คือ ใต้ดิน จอดรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ชั้นลอย ซื้อตั๋วโดยสาร โดยประมูลผู้มาบริหารจัดการ ชั้น 2 จอดรถไฟ 12 รางมาจากต่างจังหวัด ชั้น 3 รถไฟความเร็วสูง
ศูนย์คมนาคมแห่งนี้ ได้ร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ศึกษา และจะพัฒนาเป็นสมาร์ตซิตี้ เมื่อสำเร็จแล้วฮวงจุ้ยของกรุงเทพฯ จะเลื่อนขึ้นเหนือประมาณ 12 กิโลเมตร อนาคตเชียงรากน้อยจะเป็น Base Town ของกรุงเทพฯ ส่วนพื้นที่เดิมจะเป็นเขตเมืองเก่า สถานีรถไฟกรุงเทพฯ หรือหัวลำโพงอาจเปลี่ยนเป็นโรงแรม หรือพิพิธภัณฑ์ มีรถไฟลอดใต้หัวลำโพง
พื้นที่ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน 2,325 ไร่ แบ่งเป็น 9 แปลง โดยแปลง A พื้นที่พัฒนาเป็น Smart Business Complex เป็นพื้นที่ที่เปิดพัฒนาเป็นลำดับแรก ขนาด 32 ไร่ เป็นแปลงที่มีศักยภาพในการพัฒนามาก เนื่องจากตั้งอยู่บริเวณทิศใต้ของสถานีกลางบางซื่อ และเป็นแปลงที่อยู่ติดสถานีกลางบางซื่อมากที่สุดระยะ 500 เมตร และมีโครงข่ายคมนาคมเชื่อมต่อการเดินทางทั้งรถไฟฟ้า ทางด่วน และถนนที่อยู่โดยรอบ เช่น ถนนกำแพงเพชร ถนนพระราม 6 ถนนเทอดดำริ คาดว่าจะมีประชาชนมาใช้บริการที่สถานีกลางบางซื่อประมาณ 200,000 คน-เที่ยว/วัน มีทั้งจากระบบรถไฟฟ้า และสำนักงาน โรงแรมที่จะพัฒนาในแปลง A และยังมีสำนักงานฝั่งตรงข้าม คือ SCG ซึ่งมีกำลังซื้ออีก 8,000 คน