ทั้งนี้ จากกรณี สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (สร.กทพ.) คัดค้านการต่ออายุสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 เพื่อแลกกับการจ่ายค่าชดเชย 4 พันล้านบาท ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ก.ย.2561 ที่กระทรวงคมนาคม ได้มีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (สร.กทพ.) พร้อมด้วยสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย ใส่ชุดดำจำนวนรวมกว่า 200 คน นำโดยนายชาญชัย โพธิ์ทองคำ ประธานสหภาพ กทพ. ได้เดินทางมายื่นหนังสือต่อนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เพื่อเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีร่วมรับผิดชอบชำระค่าชดเชยจำนวน 1,790,000 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดต่อบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีอีเอ็ม) กรณีที่ภาครัฐสร้างทางแข่งขัน ทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ-รังสิต จนส่งผลกระทบต่อโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด ที่เอกชนดำเนินการ
โดยนายชาญชัย โพธิ์ทองคำ ประธานสหภาพ กทพ.กล่าวว่า ทางพนักงาน กทพ. น้อมรับคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดที่ตัดสินออกมา แต่การที่ กทพ.ต้องจ่ายค่าชดเชยตามคำสั่งศาล 1,790 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย ก็สืบเนื่องมาจากที่ กทพ.ดำเนินการตามมติ ครม. ที่ให้มีการสร้างทางแข่ง ดังนั้นจึงอยากเรียกร้องให้กระทรวงคมนาคม เสนอต่อรัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือในส่วนเงินที่ กทพ.ต้องชดเชยให้เอกชนทั้งหมด หรือ ให้ กทพ.ลดรายได้นำส่งรัฐบาลลงเหลือเพียง 5-10% จากกำไร จากที่เคยนำส่งรายได้ 40% เช่นปีก่อนหน้า กทพ.นำส่งรายได้กว่า 6,000 ล้านบาท/ปี โดยให้นำเงินที่งดนำส่งรัฐบาลไปจ่ายเอกชนแทนการจ่ายเงินพร้อมดอกเบี้ยทั้งก้อน
สำหรับสาเหตุที่เสนอให้ ครม.เข้าร่วมรับผิดชอบ หรือลดรายได้นำส่งรัฐบาล เนื่องจากหากจ่ายเงินชดเชยเอกชน อาจจะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงิน และแผนงานการลงทุนที่ กทพ.จะสร้างทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง ที่จะดำเนินการได้ รวมถึงส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในกองทุนไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ฟันด์ได้ ซึ่งแนวทางต่างๆ นั้นทางฝ่ายสหภาพ กทพ.ได้มีการหารือกับฝ่ายบริหารและ บอร์ด กทพ.แล้ว
นายชายชัย กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่พนักงานมีความกังวลเกรงว่าฝ่ายบริหารจะมีการเจรจากับคู่สัญญาในการขยายอายุสัญญาสัมปทาน จากเดิมโครงการทางด่วนขั้น 1-2 หมดสัญญาเดือน ก.พ.63 ออกไปแทนการจ่ายค่าชดเชยนั้น ในเรื่องนี้ทางสหภาพมองว่าไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง หากมีการหมดสัญญาทาง กทพ. ควรนำโครงการมาดำเนินการบริหารจัดการเอง ส่วนเงินชดเชยก็ไปลดเงินนำส่งรัฐมาจ่ายเอกชนแทน
ด้านนายสุรงค์ บูลกุล ประธานบอร์ด กทพ. กล่าวในงานสัมมนาสื่อมวลชนว่า กรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ กทพ.จ่ายค่าชดเชยกรณีสร้างทางแข่งที่ 1,790 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมดอกเบี้ยจะสูงถึง 4,000 ล้านบาทนั้น ในส่วนนี้มีทางออก เพราะตนก็เป็นนักเจรจา การจ่ายเงินชดเชยอาจไม่ต้องจ่ายถึงขนาดนั้น ทุกอย่างมีทางออก และฝ่ายบริหารได้มีการรายงานต่อกระทรวงคมนาคม เพื่อรายงานให้ ครม.รับทราบแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็จะต้องมาหาทางออกร่วมกัน