ดีป้า นำร่องดัน 9 ผู้ประกอบการยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญาด้านดิจิทัล เพื่อสร้างระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์ รวมถึงสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดให้กับประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านมาตรการคูปองดิจิทัล (depa Intellectual Property Voucher)
นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี กล่าวว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาการส่งเสริมและสนับสนุน ประกอบด้วยผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้แทนสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย ได้พิจารณาอนุมัติให้การส่งเสริมและสนับสนุน 10 โครงการ เพื่อยื่นจดสิทธิบัตรทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ โรงเรือนเกษตรดิจิทัล, การพัฒนาระบบเทคโนโลยี AI in a box เพื่อการทดสอบมาตรฐานไฟฟ้า, ระบบบริหารทรัพยากรบุคคลแบบ Self Service การพัฒนาแพลตฟอร์มของวงดนตรีถูกลิขสิทธิ์, และระบบการติดตามและจัดเก็บสินค้ากลางแจ้งแบบแม่นยำด้วยเทคโนโลยี IoT เป็นต้น
โดยดีป้า ได้อุดหนุนคูปองดิจิทัลรายละ 100,000 บาท รวมเป็นวงเงินสนับสนุนกว่า 1,000,000 บาท ให้กับผู้ประกอบการ SME ด้านดิจิทัลทั้ง 9 ราย ประกอบด้วยบริษัท ฟาร์มดี เอเชีย จำกัด, บริษัท เอเซนเทค (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เอ็กซ์ซี จำกัด, บริษัท ไพน์แอปเปิ้ลวิชั่นซิสเต็มส์ จำกัด, บริษัท มายเอชอาร์ จำกัด, บริษัท มาย แบรนด์ คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด, บริษัท เทคโลจิสติกส์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด, บริษัท ซีซีทีวี (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เซ็นโทรวิชัน จำกัด
ทั้งนี้ ดีป้า คาดหวังว่า การนำร่องมาตรการคูปองดิจิทัลดังกล่าว จะเป็นการกระตุ้นการจดสิทธิบัตรด้านดิจิทัลของประเทศไทยให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยในปีที่ผ่านมา มีคำขอจดสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร จำนวนเพียง 0.4% ของคำขอจดสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรทั้งหมดในประเทศ
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เล็งเห็นว่า การสนับสนุนให้เกิดการจดสิทธิบัตร จะช่วยเพิ่มนวัตกรรมของอุตสาหกรรมด้านดิจิทัลในประเทศไทย และยังช่วยยกระดับอันดับของประเทศไทยในการจัดอันดับประเทศด้านที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาในอนาคต สอดคล้องกับขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อก้าวสู่การเปลี่ยนเศรษฐกิจ Value–Based Economy หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมอีกด้วย