“สมคิด” ประชุม คจร.นัดแรกปี 2562 รับทราบแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ระยะที่ 2 หวังลดปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ ส่งเสริมให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ไจก้าแนะรัฐหนุนค่าเดินทาง-เก็บค่าจอด-เพิ่มภาษีรถดึงคนใช้บริการ พร้อมสั่งผุดอุโมงค์ทางลอดเพิ่ม แก้ปัญหารถติด
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 1/2562 เปิดเผยว่า ผลการประชุม คจร. เมื่อวันที่ 3 ม.ค.2562 ได้รับทราบผลการศึกษาการจัดทำทิศทางและนโยบายการพัฒนาแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 หรือ M-Map 2 และมอบให้สำนักนโยบายและแผผนการนส่งและจราจร (สนข.) ประสานความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นผ่านองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) ดำเนินการศึกษาแผนแม่บทปรับปรุงแบบจำลองการเดินทางเพื่อวิเคราะห์และคาดการณ์ปริมาณความต้องการเดินทางให้ครอบคลุมพื้นที่ จ.นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสงคราม จัดทำเป็นแผนงานระยะกลางและระยะยาว
โดยทิศทางและนโยบายการพัฒนาแผน M-MAP 2 ประกอบด้วย 5 นโยบายหลัก 1.บรรเทาการจราจรติดขัดในพื้นที่ศูนย์กลางเมืองกรุงเทพฯ 2.ส่งเสริมและพัฒนาโครงข่ายรถไฟในภาพรวมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลให้มีประสิทธิภาพ 3.เพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงสถานี 4.ส่งเสริมให้ประชาชนเปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ และ 5.เพิ่มการเข้าถึงสนามบิน ส่วนแผนการดำเนินงานแบ่ง 3 ระยะ ระยะสั้น 2561 – 2565 ระยะกลาง 2566 – 2570 และระยะยาว 2571 – 2580
ทั้งนี้ ไจก้ามีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐในการออกมาตรการจูงใจประชาชน ให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้ระบบการขนส่งทางรางมากขึ้น โดยใช้ประเทศญี่ปุ่นเป็นต้นแบบ เช่น ส่งเสริมให้ประชาชนเห็นว่าระบบรางเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยให้ใบรับรองแก่บริษัทที่สนับสนุนให้พนักงานใช้ระบบขนส่งสาธารณะ และให้ความรู้ในเรื่องการใช้ระบบขนส่งสาธารณะในโรงเรียน
สนับสนุนค่าใช้จ่ายให้พนักงานแต่ละบริษัทเดินทางมาทำงานโดยใช้ระบบขนส่งสาธารณะ และห้ามขับรถยนต์มาทำงานสำหรับพนักงานที่อาศัยอยู่ในรัศมีไม่เกิน 2 กม.จากที่ทำงาน ลดค่าโดยสารช่วงเวลาไม่เร่งด่วน เมื่อใช้บัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะให้มีความปลอดภัยในการใช้บริการ เช่น การใช้บริการรถไฟฟ้าของเด็กนักเรียน ให้เกิดความมั่นใจในการใช้บริการ และกำหนดมาตรการจำกัดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล โดยเพิ่มค่าจอดรถในย่านใจกลางเมือง กำหนดวันปลอดรถยนต์หรือคาร์ฟรีเดย์ และเพิ่มอัตราภาษีรถยนต์
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีในการจัดทำแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ครอบคลุมถึงการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดผ่านถนนตามแยกต่างๆ ที่มีปัญหาการจราจรติดขัดและการจัดหาพื้นที่จอดรถของประชาชนที่มาใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ โดยมอบกระทรวงคมนาคมเร่งนำเสนอร่างแผนแม่บทให้คจร.พิจารณาครั้งต่อไป ก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในกำหนดเวลา
ส่วนการศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการของผลการศึกษาความเหมาะสมโครงการและมอบ สนข. บรรจุโครงการในแผนแม่บทรถไฟฟ้าระยะที่ 2 จากผลการศึกษาฯ พบว่ามีความเหมาะสมที่จะพัฒนาทั้งระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอนทดแทน N1, ตอน N2 และ E – W Corridor และระบบขนส่งมวลชนบนแนวสายทางเดียวกัน เนื่องจากปัจจุบันขาดโครงข่ายทางที่จะรองรับการเดินทางในด้านทิศตะวันตกกับด้านทิศตะวันออก
โดยโครงข่ายระบบทางด่วนตามแนวสายทางนี้เป็นการเชื่อมต่อพื้นที่ระหว่างด้านตะวันตกกับด้านตะวันออกของถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ประกอบกับโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบขนส่งทางราง เนื่องจากรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลมีการเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนทางรางถึง 7 เส้นทาง จะต่อเชื่อมกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีชมพูที่แยกแคราย สายสีแดงที่แยกบางเขน สายสีเขียวที่แยกเกษตร สายสีเทาที่แยกทางต่างระดับศรีรัช และสายสีส้มและสีเหลืองที่แยกลำสาลี และให้สร้างฐานรากของรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลไปพร้อมกับการก่อสร้างทางด่วน เพื่อลดผลกระทบด้านค่าก่อสร้าง ปัญหาการจราจรในระหว่างการก่อสร้าง และช่วยให้สายสีน้ำตาลก่อสร้างได้เร็วขึ้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบแผนแม่บทการพัฒนาระบบการจราจรและขนส่งอัจฉริยะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และให้กระทรวงคมนาคมขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ ไปสู่การปฏิบัติต่อไป โดยมีกรอบแนวคิดเน้นให้ประเทศไทยพัฒนาการจราจรและขนส่งให้มีประสิทธิภาพโดยใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะต่างๆ มาผนวกเข้ากับโครงสร้างพื้นฐาน และยานพาหนะ
ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลควรพัฒนาให้เป็น Smart Metropolis หรือนครหลวงอัจฉริยะ ส่วนในระดับเมืองต่างๆ จะนำไปสู่การเป็น Smart City ประกอบด้วย 3 เป้าประสงค์หลัก คือ 1.ITS for Green Mobility การลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ส่งเสริมให้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ 2.ITS Integrated Center จัดตั้งหน่วยงานที่เข้ามาบูรณาการในการดำเนินงานภายในแต่ละพื้นที่ และ 3.ITS Assistive Solution เป็นการนำระบบ ITS มาแก้ไขปัญหาด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญในปัจจุบัน
และยังเห็นชอบแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่าประเทศไทยมีความเหมาะสมต่อการจัดตั้งโรงประกอบรถไฟขึ้นในประเทศ เนื่องจากมีความพร้อมในปัจจัยที่จะก่อให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตที่สำคัญ คือ มีปริมาณความต้องการรถไฟฟ้ามากเพียงพอที่จะก่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด มีเอกชนเจ้าของเทคโนโลยีสนใจลงทุน และมีผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศที่มีศักยภาพ การจัดตั้งโรงประกอบขึ้นในประเทศ จะทำให้รัฐบาลสามารถซื้อรถไฟได้ในราคาที่ถูกลงและก่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และเกิดการจ้างงานในประเทศ โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมฯ ตามผลการศึกษาต่อไป