นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาการก่อสร้างงานโยธาที่ 2 - 1 ช่วงสีคิ้ว – กุดจิก ระยะทาง 11 กิโลเมตร ตามโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) ระหว่าง นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และนายปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีวิลเอ็นจิเนียริง จำกัด โดยมี นายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย และสื่อมวลชนร่วมในพิธี เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2562 ณ กระทรวงคมนาคม
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ กล่าวว่า ปัจจุบันระบบการขนส่งทางรางนับเป็นหัวใจสำคัญในการขนส่งสินค้าและผู้คนจำนวนมาก เนื่องจากระบบการขนส่งทางรางเป็นระบบการขนส่งที่มีต้นทุนต่ำและมีโครงข่ายเชื่อมโยงทุกภูมิภาค อีกทั้งมีบทบาทในการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก กระทรวงฯ ได้ดำเนินการด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศตามนโยบายรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางราง กระทรวงฯ โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้พัฒนารถไฟทางคู่และรถไฟสายใหม่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง และโครงข่ายรถไฟสนับสนุนการพัฒนา EEC เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางบกและโลจิสติกส์ของไทย สร้างประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชน
โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) เป็นการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมที่สำคัญระดับประเทศ ภายใต้ยุทธศาสตร์ One Belt One Road หรือเส้นทางสายไหมยุคใหม่ ซึ่งจะทำให้ไทยเชื่อมโยงระบบรางกับสาธารณรัฐประชาชนจีนได้โดยตรงและเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางคุนหมิง - สิงคโปร์ ที่เชื่อมระบบรางของทวีปเอเชียได้อย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ เป็นการยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ อีกทั้งสาธารณะรฐประชาชนจีนเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำด้านเทคโนโลยีระบบคมนาคมขนส่งทางรางของโลกที่พร้อมจะถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านรถไฟความเร็วสูงแก่ไทย เพื่อสร้างความยั่งยืนในการพัฒนาระบบรางได้ด้วยตนเองในอนาคต
โครงการร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) ได้แบ่งสัญญาก่อสร้างงานโยธาออกเป็น 14 สัญญา ที่ผ่านมาได้ดำเนินการก่อสร้างงานโยธาในสัญญาที่ 1 ช่วงกลางดง - ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร การดำเนินงานมีความคืบหน้ากว่าร้อยละ 45 ส่วนการลงนามในสัญญาการก่อสร้างงานโยธาที่ 2 - 1 ช่วงสีคิ้ว – กุดจิก ระยะทาง 11 กิโลเมตร ในครั้งนี้ มีขอบเขตของงาน ได้แก่ การก่อสร้างโครงสร้างทางรถไฟ ระยะทางรวม 11 กิโลเมตร แบ่งเป็นคันทางรถไฟระดับดิน ประมาณ 7 กิโลเมตร โครงสร้างทางรถไฟยกระดับ ประมาณ 4 กิโลเมตร ศูนย์ซ่อมบำรุงทาง 1 แห่ง งานระบบระบายน้ำ งานรื้อย้ายราง ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ และงานอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับโครงการ โดยจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในเดือนเมษายน 2562
นอกจากนี้ รฟท.มีแผนการประกวดราคาและลงนามในสัญญาก่อสร้างงานโยธาโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 อีก 12 สัญญา โดยจะสามารถลงนามในสัญญาจ้างแล้วเสร็จทั้งหมดในเดือนกรกฎาคม 2562