รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ ลงพื้นที่ จ.ชลบุรี ในวันที่ 8 มีนาคม พร้อมกำหนดหารือ Roadmap ในการดำเนินงานเตรียมการทดสอบ 5G ทำ Use Case ในพื้นที่อีอีซี และหารือร่วมกันในการติดตั้งเสาสัญญาณการดำเนินงานต่อไป กระทรวงดิจิทัลฯ นำพันธมิตรกรณียื่นเจตจำนง ทำ Use Case จำนวน 6 ราย NTT สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย มหาวิทยาลัยมหิดล กระทรวงสาธารณสุข บริษัท พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น จำกัด Sumitomo และ Samsung ยกตัวอย่างการทำ Use case ในเรื่อง Healthcare Health logistics และบริการสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน และสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เรื่อง Connected Vehicles และ Autonomous vehicles เป็นการรวมบริษัทชั้นนำทางเทคโนโลยีทั้งสิ้นคาดว่าประเทศไทยจะเป็นปรากฎการณ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นในพื้นที่ประเทศไทยจะเกิดการผลักดัน และส่งเสริมภาคธุรกิจเต็มรูปแบบ
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ล่าสุดมีความคืบหน้าในเรื่องการอนุญาตใช้คลื่นความถี่เพื่อการทดลองและทดสอบเทคโนโลยี 5G โดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งมีมติเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 อนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และนำเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ประกอบที่มีการใช้งานคลื่นความถี่ช่วง 24.25 – 27.5 GHz 26.5 – 29.5 GHz และ 3.3 – 3.8 GHz จากนั้นให้มีการประสานงานติดต่อสำนักการอนุญาตและกำกับวิทยุคมนาคมของ กสทช.ต่อไป โดยมีระยะเวลาการอนุญาต 180 วัน นับแต่วันที่ได้รับอนุญาต ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยในส่วนการทดสอบ 5G ให้มีเงื่อนไขเฉพาะเป็นไปตามที่ กสทช. กำหนด
“สรุปการหารือในครั้งนี้ จะเห็นเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เห็นความพร้อมมากยิ่งขึ้นในการทำ Use Case ถือว่าเป็นความคืบหน้าการหารือในครั้งนี้ เป็นการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อน 5G และเป็นไปตามหลักการของการทดสอบภาคสนามในพื้นที่ EEC ซึ่งกระทรวงฯ ได้แต่งตั้งคณะทำงานประสานงานการทดสอบการใช้งาน 5G ขึ้น เพื่อเดินหน้าการทดสอบให้สอดคล้องกับระยะเวลาของการอนุญาตการใช้คลื่นความถี่เพื่อการทดลองทดสอบเทคโนโลยี 5G” รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ กล่าว
ดังนั้น นับจากวันนี้เป็นต้นไป จะเป็นการต่อยอดจากการเตรียมพร้อมอีโคซิสเต็ม เพื่อรองรับพันธมิตรที่สนใจเข้ามาร่วมทดสอบการใช้งาน 5G ใน Test bed แห่งนี้ไปสู่การ action อย่างเต็มตัว โดยใช้จุดเด่นในการเป็นพื้นที่ Sandbox ที่เปิดกว้างการทดลองพัฒนาบริการ และการใช้งานใหม่ๆ ที่สำคัญเป็นการทดสอบกับอุปกรณ์ของจริงจากความร่วมมือของผู้ผลิตอุปกรณ์ 5G รายหลักๆ ที่ตอบรับเป็นพันธมิตรกับกระทรวงดิจิทัลฯ ในโครงการนี้แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีความต้องการเชิงพาณิชย์เกิดขึ้นก่อน
“ได้ให้ข้อเสนอแนะการต่อยอดการใช้ประโยชน์จากอีโคซิสเต็มที่ 5G Test bed 1. ผู้ผลิตอุปกรณ์ (Vendor) ที่มีการทดลองทดสอบใช้งาน (Use Case) อยู่แล้ว ให้นำเข้ามาทดสอบในพื้นที่นี้ด้วย 2.กลุ่มผู้ใช้งานรายหลักๆ อย่างเช่น กระทรวงสาธารณสุข อุตสาหกรรมต่างๆ ในพื้นที่อีอีซี และสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ต้องใช้ความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับภาคส่วนต่างๆ ชวนกันเข้ามาใช้ศูนย์ทดสอบร่วมกัน นอกจากนี้ ยังรวมถึง กสทช. เพื่อจัดระบบการทดสอบเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาคลื่นรบกวน ในระยาวมุ่งหวังให้เกิดการแบ่งปันข้อมูลที่ได้จากการทดสอบของพันธมิตรทุกราย เพื่อหลังเสร็จทดสอบ เราจะได้มีความรู้ และจัดทำข้อมูลการใช้ประโยชน์ 5G ซึ่งประเทศไทยจะได้ใช้ประโยชน์ต่อยอดสู่การพัฒนาบริการใหม่ๆ ต่อไป” ดร.พิเชฐกล่าว