ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สื่อสาร - คมนาคม ย้อนกลับ
กสทช.เรียกคืนคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ เปิดพื้นที่ทดสอบ 5G ให้ผู้ประกอบการ
13 มี.ค. 2562

กสทช.เตรียมส่งหนังสือเรียกคืนคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ โดนกำหนดสิ้นสุดการใช้คลื่นภายใน 45 วัน เพื่อนำมาจัดประมูลคลื่น 5G ในช่วงปลายไตรมาส 3

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ที่ประชุม กสทช.ได้มีมติเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ (2500-2690 MHz) เป็นจำนวนทั้งหมด 190 เมกะเฮิรตซ์ แบ่งเป็นจากบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) 154 เมกะเฮิรตซ์ กองทัพบกและกองบัญชากรกองทัพไทย 12 เมกะเฮิรตซ์ ที่เหลือเป็นคลื่นว่างจากกรมประชาสัมพันธ์ที่เรียกคืนมาแล้วไม่เกิดการใช้งาน

“หลังจากที่สำนักงาน กสทช.ส่งหนังสือแจ้งออกไป จะให้กำหนดวันสิ้นสุดการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 45 วัน โดยในระหว่างดำเนินการ ให้สามารถใช้คลื่นความถี่ที่เรียกคืนดังกล่าวไปพลางก่อนได้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 120 วันนับจากที่ กสทช.มีมติให้เรียกคืนคลื่นความถี่”

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เรียกคืนคลื่นความถี่แล้ว ถ้าทุกเรื่องเดินหน้าตามกระบวนการ และแผนงานของ กสทช.จะมีการตั้งคณะกรรมการเยียวยาในการชดเชยให้แก่ อสมท ตามการเรียกคืนคลื่นดังกล่าว และถ้าไม่เกิดปัญหาอุปสรรคใดๆ คาดว่าภายในเดือนสิงหาคม - กันยายน จะจัดประมูลได้ แต่ถ้ามีการคัดค้านก็จะกระทบกับกรอบเวลาที่กำหนดไว้

นอกจากนี้ ยังได้มีการอนุมัติเงินงบกลาง 7.5 ล้านบาท ในการจ้างที่ปรึกษาเพื่อประเมินมูลค่าการเรียกคืนคลื่นความถี่ และการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนสำหรับผู้ที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2500-2690 เมกะเฮิรตซ์ การประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ในการนำมาใช้ในกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลในย่านความถี่ดังกล่าว จำนวน 3 ชุด จาก 3 สถาบัน ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) แห่งละ 2.5 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ยังมีมติเห็นชอบในหลักการของ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการพัฒนาและทดสอบนวัตกรรมในพื้นที่กำกับดูแลเฉพาะ (Regulatory Sandbox) หรือที่เรียกว่า ร่างประกาศ Sandbox และให้นำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ

“การขออนุญาตนำเข้าอุปกรณ์เพื่อทดลอง ทดสอบในพื้นที่อย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีอีซี และพื้นที่อื่นๆที่ กสทช.ประกาศกำหนด จะได้รับการยกเว้น เพื่อสนับสนุนการทดลอง ทดสอบ 5G เพื่อเร่งในการดำเนินการ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะผู้ประกอบการโทรคมนาคม ที่จะขอทดลอง ทดสอบได้ แต่รวมถึงผู้ประกอบการรายอื่นๆ ก็สามารถเข้ามาทดลองทดสอบในพื้นที่ๆ กำหนดไว้ให้”

พร้อมกันนี้ ได้อนุมัติกรอบระยะเวลาดำเนินการและกรอบวงเงินงบประมาณการดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์ทดลองทดสอบ 5G ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 68 ล้านบาท โดยทางจุฬาฯ ทำเรื่องมาขอการสนับสนุน จากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ของสำนักงาน กสทช.หลังจากนี้ จะต้องส่งเรื่องให้ทางกองทุนฯ ประเมินให้สอดคล้องกับราคากลางของสำนักงบประมาณ

ที่ประชุม กสทช. ยังมีมติเห็นชอบให้เรียกเก็บเงินรายได้ขั้นต่ำจากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 850 MHz ในช่วงระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2561 จนถึงวันที่ 15 ธ.ค. 2561 ของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 603,806,875 บาท

รวมถึงเห็นชอบแนวทางในการนำค่าใช้จ่าย ในส่วนของค่าเช่าท่อร้อยสายใต้ดิน และค่าดำเนินการนำสายสื่อสารลงดิน มาหักลดหย่อนจากรายได้ที่ต้องจัดสรรเพื่อนำไปใช้ในการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง และบริการเพื่อสังคม (USO) โดยแต่ละบริษัทสามารถหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 200 ล้านบาท ต่อปี ต่อหนึ่งบริษัท และการหักลดหย่อนดังกล่าวต้องดำเนินการตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดเก็บรายได้เพื่อนำไปใช้ในการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบกิจการสื่อสารนำสายลงดินและจัดระเบียบสายสื่อสารตามนโยบายรัฐบาล

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...