นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA กล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ในเดือน มิ.ย.นี้ ตนเองจะครบวาระในการดำรงตำแหน่ง ผอ. ETDA ซึ่งได้ดำรงตำแหน่งนี้มาเป็นเวลา 8 ปี คือ จำนวน 2 วาระๆ 4 ปี และถึงแม้ว่าตาม พ.ร.บ. ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ฉบับใหม่ ให้ ผอ.คนเก่าสามารถต่ออายุได้อีก 2 วาระก็ตาม แต่เห็นว่า องค์กรมีความเข้มแข็งแล้ว จึงอยากเปิดโอกาสให้มีคนใหม่เข้ามาบริหารงานบ้าง ส่วนตนเองนั้น ตั้งใจว่าจะออกไปทำงานกับเอกชนที่เกี่ยวกับการสร้างแพลตฟอร์มใหญ่ให้ประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งท้าทายที่น่าทำ ก่อนที่อีก 2 ปีข้างหน้าอาจจะมีความสนใจในการลงเล่นการเมือง
สำหรับแผนงานประจำปี 2562 จะต้องมีการเตรียมความพร้อมรับความท้าทาย เพื่อยกระดับการทำงานตาม พ.ร.บ. ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ ... ) พ.ศ. ... ตามที่ได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อ เดือน ม.ค. 2562 นั้น ETDA จะทำหน้าที่ด้านการกำหนดมาตรฐานด้านต่างๆ เพื่อรองรับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ดิจิทัลไอดี
โดยการกำกับดูแลที่จะเป็นการออกมาตรฐานนั้น อาจจะมีความคาบเกี่ยวกับภารกิจของหน่วยงานที่ดูแลเรื่องของโอเพนกอฟเวอร์เมนต์ และการทำดาต้าแชร์ริง รวมถึงเรื่องการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาธารณะด้วย จึงต้องมีการวางบทบาทที่ชัดเจนในการเป็นผู้กำกับดูแลในเชิงการประชาสัมพันธ์ ที่ครอบคลุมเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล และไซเบอร์ซีเคียวริตี ที่มีร่างกฎหมายเฉพาะเข้ามาดูแล
ทั้งนี้ ในความเห็นส่วนตัว ปัจจุบันมีอย่างน้อย 2 ธุรกิจบริการที่ควรผลักดันให้มีการกำกับดูแลโดยเร็ว เรื่องแรก ได้แก่ การกำกับดูแลผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งนอกจากการยกระดับของผู้ประกอบการแล้ว ยังทำให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างระบบในทางเทคนิคของผู้ให้บริการแต่ละราย โดยธุรกิจบริการดังกล่าวถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางเทคโนโลยีสารสนเทศที่ส่งผลต่อการสร้างความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือให้กับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มากยิ่งขึ้น
ธุรกิจบริการที่ 2 ได้แก่ การให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันถือเป็นระบบที่มีความสำคัญต่อขั้นตอนการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก จึงมีความจำเป็นต้องดูแล เพื่อให้การประกอบธุรกิจดังกล่าวมีระบบที่มีความน่าเชื่อถือ และปลอดภัย
การทำให้ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีความน่าเชื่อถือ คือ ภารกิจหลักของการรักษาและเสริมจุดแข็งของ ETDA ซึ่งบทบาทที่ท้าทายในการพัฒนาอีคอมเมิร์ซไทย นอกเหนือจากการเข้ามาของบริษัทข้ามชาติแล้ว การสร้างงาน สร้างอาชีพให้คนไทย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้นจากการใช้สมาร์ทโฟน เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก
ทั้งนี้ เห็นได้จากตัวเลขมูลค่าอีคอมเมิร์ซที่เติบโตต่อเนื่องมาหลายปี โดยในปีที่ผ่านมา โตถึง 14.04% ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรมีโลคอลแพลตฟอร์มของตัวเอง จึงเป็นที่มาของโครงการ “ยัง ทาเลนจ์” ซึ่งเป็นที่รวบรวมข้อมูลสินค้า และบริการ ไปจนถึงการเผยแพร่ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และตั้งเป้าให้เป็นศูนย์กลางที่ทั้งเวิร์กฟอร์ซ และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถนำไปใช้ต่อยอดและพัฒนาธุรกิจได้
อย่างไรก็ตาม ในยุคดิจิทัลดิสรัปชันที่การเติบโตมูลค่าอีคอมเมิร์ซมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อีกด้านหนึ่งก็เกิดปัญหาจากการซื้อขายสินค้าและบริการทางออนไลน์ ซึ่ง ETDA เองไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยที่ผ่านมา มีการแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่านช่องทางศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน 1212 OCC ของ ETDA เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
จากสถิติข้อมูลในปี 2560 มีจำนวน 9,987 ครั้ง เป็น 17,558 ครั้งในปี 2561 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า โดยพบว่า เกิดจากการซื้อสินค้า แต่ได้รับของไม่ตรงสเปก ผิดสี ผิดขนาด หรือไม่ได้รับสินค้า อีกทั้งยังมีผลกระทบในเรื่องการซื้อขายสินค้าที่ผิดกฎหมาย หรือไม่มีมาตรฐาน ทำให้ผู้ซื้อสินค้าได้รับอันตรายไปกระทั่งเสียชีวิต รวมถึงความยุ่งยากในการได้รับการชดเชยเยียวยาเมื่อเกิดปัญหา ดังนั้น ในปีนี้ ETDA ก็จะเข้ามากำกับดูแลในส่วนนี้อย่างเข้มข้นมากขึ้น เพื่อปกป้องผู้บริโภคออนไลน์