ในการติดตามและดูงาน พัฒนาระบบโบจิสติกส์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคใต้และแนวทางการส่งเสริมให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางมารีน่าของอาเซียน ระหว่างวันที่ 25-27 เมษายน 2562 ที่จังหวัดกระบี่ และภูเก็ต นำโดยพลโทจเรศักณิ์ อาณุภาพ ประธานคณะกรรรมาธิการคมนาคม (กมธ.คมนาคม) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พบว่าแนวโน้มการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและการพัฒนาเมืองในภาคใต้ฝั่งอันดามัน โดยเฉพาะ กระบี่ ภูเก็ต พังงา เป็นไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งเฉพาะกระบี่มีรายได้จากการท่องเที่ยวปีละ 1 แสน 2 หมื่นล้านบาท มากเป็นอันดับที่ 4 ของประเทศ ปริมาณการเดินทางโดยรถยนต์ รถไฟ เครื่องบิน และเรือ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเมื่อพิจารณาแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า หน่วยงานต่าง ๆ ได้จัดทำแผนการพัฒนาประจำปีงบประมาณในระยะสั้นและระยะยาว แต่ยังคงมีอุปสรรคจากความล่าช้าของโครงการ ข้อจำกัดของงบประมาณ จึงทำให้ขาดความต่อเนื่องของการพัฒนา
กมธ.คมนาคม ได้เชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ทุกด้าน มารายงานความคืบหน้า และรับแจ้งว่า ท่าอากาศยานนานาชาติกระบี่ ได้ดำเนินการแผนงานในการขยายอาคารผู้โดยสาร และหลุมจอดเครื่องบินขนาดใหญ่ จาก 7 หลุมในปัจจุบัน เพิ่มเป็น 20 หลุมในปี 2565 มีสายการบินใช้บริการอยู่ในขณะนี้ 11 สายการบิน และปัจจุบันมีผู้โดยสารปีละ 4 ล้านกว่าคน และจะรองรับได้เพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านคนในอนาคต ได้ขยายพื้นที่คาร์โก เพื่อการขนส่งสินค้าแล้วกว่า 1 พันตารางเมตร ช่วยภาคธุรกิจในการลดต้นทุนในการกระจายสินค้าได้มหาศาล โดยสามารถใช้ท่าอากาศยานนานาชาติกระบี่ เป็นจุดรับ และกระจายสินค้าทดแทนการขนส่งไปสนามบินสุวรรณภูมิ แล้วใช้รถยนต์ รถไฟ และเรือ กระจายสินค้าต่อไปยังประเทศอาเซียน และในประเทศไทยเอง ได้เร็วขึ้น
ปัญหาที่พบ ยังขาดท่าเทียบเรือน้ำลึกที่สามารถรองรับได้ รวมถึงข้อจำกัด
ของกฎหมายที่กำหนดเวลาจอดพักในประเทศไทยที่มีระยะเวลาเพียง ๖ เดือน ซึ่งน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค และการพัฒนาเส้นทางการเดินเรือระหว่างจังหวัดกระบี่ - ภูเก็ต เพื่อรองรับผู้โดยสารที่เดินทางมาที่ท่าอากาศยานนานาชาติกระบี่ ซึ่งจะช่วยกระจายความแออัดของท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต
ขยายเส้นทางทางบกและทางราง เชื่อมจังหวัดริมทะเลอันดามันไปอ่าวไทย จากกระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี เส้นทางรถไฟยังขาดการเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดสุราษฎร์ธานีมายังจังหวัดพังงา ภูเก็ต กระบี่ ซึ่งจะทำให้การเชื่อมต่อระหว่างฝั่งทะเลอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามันสะดวกมากยิ่งขึ้น
กมธ.คมนาคม ได้ย้ำให้ท่าอากาศยานนำช่องเช็คอิน (common use) มาใช้งานเต็มรูปแบบเพื่อบรรเทาปัญหาผู้โดยสารคับคั่ง และประสานงานกับกรมทางหลวง จัดทำแผนการพัฒนาร่วมกัน เช่น การสร้างทางเข้า – ออก ท่าอากาศยาน และออกแบบเส้นทางที่ต่อเนื่องกัน ตอบสนองกับแนวทางการพัฒนาท่าอากาศยานไปในทางเดียวกันทางบก-ราง
พัฒนาท่าเรือ ให้เป็นท่าเทียบเรือน้ำลึก ในพื้นที่ จ.กระบี่ ภูเก็ต ชุมพร สงขลา และยะลา
รถไฟขยายเส้นทางเดินรถ 6 เส้นทาง ตั้งแต่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ลงไปถึงหาดใหญ่
คณะกรรมาธิการฯ เสนอให้ผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการระหว่างจังหวัด และนำเสนอแนวคิดเชื่อม 2 ฝั่งทะเล เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งอันดามันและอ่าวไทยโดยทางรถไฟและทางน้ำเชื่อมเกาะสมุย (ตามภาพแผนที่) และกรมทางหลวงต้องประสานกับกรมทางหลวงชนบท สร้างทางเชื่อมต่อให้สอดรับกัน ทำให้การเดินทางจาก สุราษฏร์-พังงา-กระบี่-ภูเก็ต เชื่อมต่อได้ทั้งทางถนน ทางราง และทางน้ำ โดยใช้ทางน้ำร่วมกับทางรางเป็นเส้นทางหลัก (Mainline) และใช้ถนนเป็นระบบสนับสนุน (feeder)
อีกทั้ง กมธ.คมนาคม ไม่เห็นด้วย กับการสร้างสนามบินที่จังหวัดพังงา แต่การพัฒนาสนามบินที่ภูเก็ต และกระบี่ เป็นจุดคุ้มทุนมากกว่า เพราะพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของพังงา ใกล้เคียงกับทั้ง 2 จังหวัดอย่างมาก อีกทั้งมีความเสี่ยงอันตรายในการจัดการจราจรทางอากาศด้วย จึงเห็นว่า จังหวัดริมทะเลอันดามัน ต้องเร่งพัฒนาท่าเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่โดยเร็วที่สุด เพื่อให้มีประเทศไทยเป็นศูนย์กลางมารีน่าอาเซียน