วันที่ 10 เมษายน 2562 ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้ออกระเบียบกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการอนุญาตให้ส่งช้างออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2562 โดยช้างที่ส่งออกได้ต้องเป็นช้างที่จดทะเบียนทำตั๋วรูปพรรณแล้วเท่านั้น และอนุญาตให้ส่งออกช้างได้ 3 กรณี คือ 1) การส่งช้างเพื่อการศึกษาวิจัย 2) การส่งช้างเพื่อสัมพันธไมตรี และ 3) การส่งส่วนต่างๆ หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ได้มาจากช้างเพื่อศึกษาวิจัยทางวิชาการหรือเพื่อเป็นโบราณวัตถุ/ศิลปวัตถุ ซึ่งระเบียบกระทรวงพาณิชย์ดังกล่าวจะบังคับใช้ จนกว่าร่าง พ.ร.บ.ช้าง พ.ศ. .... ของกรมปศุสัตว์จะแล้วเสร็จและมีผลบังคับใช้
หลังจากนี้ กระทรวงพาณิชย์จะได้มอบอำนาจให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นผู้พิจารณาออกใบอนุญาตส่งออกต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถส่งออกช้างได้กลางปี 2562 อย่างไรก็ตาม การส่งออกช้างเป็นประเด็นอ่อนไหว เป็นที่สนใจของประชาชนและนักอนุรักษ์ จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจกับทุกภาคส่วน ดังนั้น ระเบียบกระทรวงพาณิชย์ฯ ฉบับนี้ กรมการค้าต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันพิจารณาอย่างละเอียด รอบคอบ และรัดกุม เพื่อรับประกันว่าช้างไทยต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี และได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับช้างโดยเฉพาะ ตามมาตรฐานสมาคมสวนสัตว์และสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำโลก (World Association for Zoos and Aquariums : WAZA) และอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora : CITES)
ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่อนุญาตให้ส่งช้างออกไปนอกราชอาณาจักรมาเป็นระยะเวลาเกือบ 10 ปี ตั้งแต่ปี 2552 เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายไม่อนุญาตให้ส่งออกช้าง จนกว่าจะขึ้นทะเบียนช้างบ้านทั่วประเทศให้แล้วเสร็จ เพื่อป้องกันการนำช้างป่ามาสวมสิทธิเป็นช้างบ้านแล้วส่งออกไปต่างประเทศ
“กรมการค้าต่างประเทศตระหนักเป็นอย่างดีว่า ช้างเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญและเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทยมาช้านาน การออกกฎหมายเกี่ยวกับการส่งช้างมีชีวิตไปต่างประเทศเป็นประเด็นที่ต้องมีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศไทยเป็นสำคัญ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคนไทยได้ว่าต่างประเทศและผู้เกี่ยวข้องสามารถดูแลสวัสดิภาพช้างเพื่อการศึกษาวิจัยและช้างทูตสัมพันธไมตรีของไทยได้เป็นอย่างดี” นายอดุลย์กล่าว
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองบริหารการค้าสินค้าทั่วไป โทร 02-547-5119 หรือสายด่วนกรมการค้าต่างประเทศ 1385 และเว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ www.dft.go.th