นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลีงเป็นประธานการประชุมติดตามการเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดินในส่วนของกระทรวงคมนาคมในช่วงระยะเวลา 6 เดือนของปีงบประมาณ 2562 ว่า ภายหลังได้รับรายงานพบว่า มีการเบิกจ่ายล่าช้า 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย รถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กรมเจ้าท่า (จท.) กรมทางหลวง ( ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ทั้งนี้ ได้มีการเร่งรัดการจัดทำแผนการจัดทำแผนเบิกจ่ายงบประมาณ ที่เหลือ 5 เดือนให้ชัดเจนเป็นไปตามแผน
“ทั้ง 5 หน่วยงานจะต้องไปทำรายละเอียดมาระหว่างเดือน พ.ค.-ก.ย.2562 รวม 5 เดือนว่า แต่ละเดือนจะต้องเบิกจ่ายอะไรบ้าง งานที่จะต้องเบิกจ่ายและเป็นเม็ดเงินงบประมาณเท่าใด ต้องไปทำรายละเอียดตรงนี้มาเพื่อให้เห็นตัวเลขการเบิกจ่ายของงบประมาณปี 2562 ของกระทรวงคมนาคมว่าจะสำเร็จได้กี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในส่วนของทั้ง 5 หน่วยงานนี้ ถือว่าเป็นหน่วยงานที่บริหารจัดการโครงการใหญ่ อย่างของกรมเจ้าท่าตามที่รายงานก็จะติดขัดเรื่องของการขุดลอกแม่น้ำที่ท่าเรือเชียงแสน โดยช่วงเวลาของการขุดลอกนั้นไม่สอดคล้องกันเรื่องของกระแสน้ำ จึงไม่สามารถขุดลอกได้ แต่ได้ใช้วิธีการย้ายการขุดลอกไปที่ท่าเรือสงขลาแทน ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงงบประมาณดำเนินการ”
ส่วนของกรมท่าอากาศยานจะมีเรื่องสนามบินนครศรีธรรมราช สนามบินสุราษฎร์ธานี ที่มีแผนจัดทำเขื่อนป้องกันน้ำท่วม ก็ติดเรื่องของการทำงานล่าช้าของผู้รับจ้าง ส่วนใหญ่การเบิกจ่ายล่าช้าเนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่มีวงเงินลงทุนที่เกิน1,000 ล้านบาท ซึ่งก็ได้ย้ำว่าหน่วยงานที่เบิกจ่ายล่าช้านี้ จะต้องดำเนินการตามแผนให้เป็นตามเป้า นอกจากนี้ ยังมีการติดตามการเรื่องของงบประมาณเหลื่อมจ่ายตั้งแต่ปี 2555-2561 ซึ่งเป็นการค้างจ่าย โดยได้มอบหมายแต่ละหน่วยงานจัดทำแผนรายละเอียดงบประมาณที่ค้างจ่าย และเร่งรัดให้เรียบร้อย นายชัยวัฒน์ กล่าว
ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยด้วยว่า ที่ประชุมได้ติดตามผลการเบิกจ่ายเงินกันเหลื่อมปี ประจำปีงบประมาณ 2555-2561 จำนวน 4.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งล่าสุดพบว่าเบิกจ่ายได้เพียง 51.5% หรือประมาณ 22,000 ล้านบาท เหลือยังค้างเบิกจ่ายอีก 48.5% หรือประมาณ 21,000 ล้านบาท
สำหรับหน่วยงานที่พบปัญหาเบิกจ่ายล่าช้ามี 4 หน่วยงาน โดยกรมทางหลวง (ทล.) เป็นหน่วยงานที่ค้างเบิกจ่ายงบประมาณสูงสุด 13,000 ล้านบาท เนื่องจากโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) บางใหญ่-กาญจนบุรี และบางปะอิน-นครราชสีมา เกิดความล่าช้า รองลงมาได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ค้างเบิกจ่าย 2,800 ล้านบาท เพราะโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่เฟสที่ 1 ล่าช้า, กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ค้างเบิกจ่าย 2,400 ล้านบาท เนื่องจากพบปัญหาผู้รับเหมาทิ้งงานจากปัญหาสภาพคล่องไม่ดีจำนวนมาก โดยเฉพาะโครงการที่มูลค่าโครงการไม่มาก และกรมเจ้าท่า (จท.) ค้างเบิกจ่าย 1,800 ล้านบาท
นายชัยวัฒน์ เปิดเผยว่า พ.ร.บ.งบประมาณปี 2561 กำหนดให้หน่วยงาน ต้องเบิกจ่ายงบประมาณที่ค้างอยู่ให้หมด ดังนั้น ได้สั่งการให้ 4 หน่วยงานที่เบิกล่าช้า และทุกๆ หน่วยเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินกันเหลื่อมปี ประจำปีงบประมาณ 2555-2561 ให้หมดภายในปีงบประมาณ 2563 หรือวันที่ 30 ก.ย. 2563 ส่วนปีนี้เหลือเวลาอีก 5 เดือน จะปิดปีงบประมาณ 2562 แล้วก็ต้องเร่งเบิกจ่ายเช่นกัน
สำหรับผลการเบิกจ่ายงบประมาณกระทรวงคมนาคมในปีงบประมาณ 2562 ณ 30 เม.ย. 2562 นั้นเบิกจ่ายภาพรวมไปแล้ว 45.21% แบ่งเป็นการเบิกจ่ายงบประจำมีความคืบหน้า 62.62% และงบลงทุน 42.16% ต่ำกว่าเป้าหมาย แต่คาดว่าจะเร่งรัดการเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมายได้ในช่วง 5 เดือนที่เนื่องจากงบประมาณเป็นกลไกสำคัญในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ