ร.ฟ.ท.เปิดแผนจัดซื้อรถไฟใหม่ 5 หมื่นล้านบาทรอง รับทางคู่เฟส 1 ส่งมอบรถไฟใหม่มากกว่า 1,500 คันภายในปี 2567 จ่อควักอีกลงทุน 6 หมื่นล้าน อัพเกรดรถไฟไฮบริดรอบเมืองหลวง
นายศิริพงศ์ พฤทธิพันธุ์ รองผู้ว่าฝ่ายธุรกิจซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อน การรถไฟแห่งประ เทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า โครงการรถไฟทางคู่เฟส 1 รวม 5 เส้นทางนั้น จะทยอยเปิดใช้ตั้งแต่ปี 2564 ไปจนถึงปี 2566 ดังนั้น รฟท.จึงมีแผนจัดซื้อรถไฟใหม่เพื่อรองรับการขยายตัวของปริมาณสินค้าและผู้โดยสาร ซึ่งมีวงเงินลงทุนทั้งหมดราว 5.4 หมื่นล้านบาท เริ่มจากโครงการจัดซื้อรถไฟดีเซลจำนวน 50 คัน วงเงิน 7 พันล้านบาท
ทั้งนี้ อยู่ในขั้นตอนประมูลพร้อมส่งมอบภายใน 30 เดือนหลังลงนามสัญญาโครงการจัดซื้อรถดีเซลราง 216 คัน วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน ก.ย. และเปิดประมูลช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี เช่นเดียวกับโครงการจัดซื้อรถดีเซลรางปรับอากาศเชิงพาณิชย์ 186 คัน วงเงิน 1.3 หมื่นล้านบาท ทยอยส่งมอบเป็นล็อตให้ครบภายในปี 2566 โครงการจัดหารถบรรทุกสินค้าคอนเทนเนอร์พร้อมอะไหล่ 1,000 คัน (บทต.) วงเงิน 5 พันล้านบาท ส่งมอบ 200 คันภายในปี 2564 และอีก 500 คันในปี 2566 และล็อตสุดท้าย 300 คัน ภายในปี 2567
สำหรับโครงการเช่าหัวรถจักรดีเซลพร้อมซ่อมบำรุงจำนวน 50 หัว วงเงิน 1.3 หมื่นล้านบาท โครงการจัดหารถโบกี้ปั้นจั่น 3 คัน วงเงิน 813 ล้านบาท โครงการจัดหารถจักรสับเปลี่ยน 20 คัน และโครงการปรับปรุงระบบห้ามล้อลมดูด 197 คัน อย่างไรก็ตาม แผนทั้งหมดนี้จะต้องได้รับมอบรถไฟภายในปี 2566-2567 เพื่อรองรับการเปิดใช้รถไฟทางคู่เฟส 1 ทั้งนี้ ปัจจุบันรถไฟบางประเภทใช้งานมานานแล้ว ดังนั้นการซื้อรถไฟใหม่นั้นจะถูกกว่าการรับภาระค่าซ่อมรถไฟเก่าอายุหลายสิบปี
นายศิริพงศ์ กล่าวต่อว่า ร.ฟ.ท.จะปรับตัวไปสู่ภาพลักษณ์ใหม่สถานีไร้ควันและลดมลพิษการขนส่งระบบทางราง จึงมีแผนลงทุนรถไฟไฮบริดระบบกึ่งไฟฟ้า ลดการใช้น้ำมันดีเซลในระบบเดินรถระยะยาว และพัฒนาเป็นรถไฟระบบไฟฟ้าไร้ควันเต็มตัวในเส้นทางรัศมี 200 กิโลเมตรจากกรุงเทพมหานคร ได้แก่ 1.ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา 2.ช่วงกรุงเทพฯ-นครสวรรค์ และ 3.ช่วงกรุงเทพฯ-หัวหิน-ชุมพร คาดว่าจะใช้เงินลงทุนทั้งหมด 6 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ย 2 หมื่นล้านบาทต่อเส้นทาง