นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า จากข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ที่มีนโยบายด้านการพัฒนาสินค้า OTOP นวัตวิถี เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ ประกอบกับการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ผู้บริโภคในวงกว้างทั้งในประเทศและต่างประเทศ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงได้ดำเนินการผลักดันผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ OTOP ที่นับว่าเป็นตัวกลางการสร้างอาชีพให้คนในชุมชน และกระจายรายได้ให้กับเศรษฐกิจในท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ ตลอดจนช่วยรักษาภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวไทยให้คงอยู่ ทั้งนี้ ในทุกๆ 2 ปีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะดำเนินการคัดสรรผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ 3-5 ดาว ให้ก้าวสู่การเป็น OTOP SELECT และในปี 2559 มีผู้ผลิตที่ผ่านการคัดสรรจำนวน 1,253 ราย แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 513 ราย, ผ้าและเครื่องแต่งกาย จำนวน 369 ราย, ของใช้ของตกแต่งและของที่ระลึก จำนวน 293 ราย และสมุนไพรที่มิใช่อาหาร จำนวน 78 ราย และในปี 2562 กรมฯ มีกำหนดเปิดรับสมัครผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ 3-5 ดาว เพื่อพัฒนาเข้าสู่ OTOP SELECT ภายในเดือนพฤษภาคม 2562 นี้
อธิบดี กล่าวต่อว่า “สำหรับช่วงเวลาการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ OTOP SELECT ที่ผ่านมาพบว่า ปัญหาสำคัญที่ทำให้ธุรกิจนี้ไม่สามารถเติบโตได้อย่างมีศักยภาพ คือ ไม่สามารถเข้าถึงช่องทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับยังขาดการต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ในเชิงสร้างสรรค์ ในปี 2562 กรมฯ จึงตั้งเป้าหมายเพื่อพัฒนา ‘ผลิตภัณฑ์ OTOP SELECT’ ให้เติบโตได้อย่างมีระบบ ใน 2 แนวทาง ได้แก่ 1) พัฒนาช่องทางการตลาดและรูปแบบการนำเสนอผลิตภัณฑ์ OTOP SELECT จากนั้นจะเพิ่มช่องทางการตลาดออนไลน์เพื่อช่วยให้เข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างไร้พรมแดน”
“2) กระตุ้นการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP SELECT โดยยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพและมาตรฐาน รวมถึงการสร้างพื้นที่กิจกรรม (Event Marketing) กระตุ้นการรับรู้ พร้อมกับจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP SELECT ส่งตรงถึงมือผู้บริโภค มีกำหนดจัดจำนวน 4 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 วันที่ 12-14 ก.ค.62 ณ ลานโปรโมชั่น ชั้น 1 เซ็นทรัลพลาซ่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ครั้งที่ 2 วันที่ 19-21 ก.ค.62 ณ ลานโปรโมชั่น ชั้น 1 เซ็นทรัลพลาซ่า จังหวัดอุดรธานี ครั้งที่ 3 วันที่ 23-25 ส.ค.62 ณ ลานโปรโมชั่น ชั้น 1 เซ็นทรัลพลาซ่า จังหวัดพิษณุโลก และครั้งที่ 4 วันที่ 30 ส.ค.-1 ก.ย. 62 ณ ลานโปรโมชั่น ชั้น B เซ็นทรัลพลาซ่า แกรนด์ พระราม 9 กรุงเทพฯ ทั้งนี้ กรมฯ จะใช้รูปแบบการจัดกิจกรรมควบคู่กับการสื่อสารผ่านช่องทางการตลาดออนไลน์ (Social Marketing) เนื่องจากเป็นสื่อที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างครอบคลุม ประหยัดต้นทุนทางการตลาด และกระตุ้นการตัดสินใจซื้อได้เป็นอย่างดี”
“นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้พัฒนา ‘ผลิตภัณฑ์ผ้าไหม’ ที่เป็นสินค้าอัตลักษณ์เด่นของทุกภูมิภาค โดยจะยกระดับการสร้างเรื่องราว (Story Telling) ให้ผ้าไหมไทยกลายเป็นที่ประจักษ์ รับรู้ถึงคุณค่าและความเป็นมาในสายตาผู้บริโภค ผ่านการเชื่อมโยงจากแหล่งผลิตไปสู่การท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร และกระตุ้นการบริโภคผ่านช่องทางออนไลน์ ภายใต้โครงการ “ยกระดับการตลาดผลิตภัณฑ์ผ้าไหมสู่แหล่งท่องเที่ยว” ซึ่งโครงการนี้จะช่วยสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการผ้าไหมไทยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 5 มากไปกว่านั้นยังพัฒนาศักยภาพการผลิตและการจัดจำหน่ายให้มีคุณภาพตอบโจทย์ตามที่ตลาดต้องการ ด้วยการรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในวงการผ้าทอของไทย นักออกแบบ ผู้ทรงอิทธิพลด้านการตลาด และสื่อสารมวลชน กรมฯ คาดว่าแผนดำเนินการนี้จะนำไปสู่การเป็นต้นแบบของกลยุทธ์ ในการช่วยส่งเสริมให้การผลิตสินค้าที่เป็นอัตลักษณ์ของไทยได้เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ ควบคู่กับการเจริญเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศไทยไปพร้อมกัน” อธิบดี กล่าวในท้ายที่สุด