กรมโรงงานอุตสาหกรรมเผยปฎิญญาอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมสู่4.0 ช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันผู้ประกอบการ 10 ประเทศ พร้อมดึงเทคโนโลยีพัฒนาระบบบริการ-ตรวจสอบมลพิษ
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ปรับแผนการกำกับดูแล และส่งเสริมการประกอบกิจการโรงงานให้สะดวก รวดเร็ว ประหยัด โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน ตามแนวทางหัวข้อปฎิญญาอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมของเซียนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวข้อที่ต้องเร่งขับเคลื่อนในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ระหว่างวันที่ 22-23 มิ.ย. 62 ที่กรุงเทพฯ โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
ทั้งนี้สาเหตุที่ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนต้องการผลักดันหัวข้อปฎิญญาอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมของอาเซียนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ถือเป็น 1 ใน 13 ประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ต้องขับเคลื่อนให้ได้ภายในปีนี้ เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมจากอุตสาหกรรม “เพิ่มมูลค่า” ไปสู่อุตสาหกรรม “สร้างมูลค่า” เช่น การต่อยอดอุตสาหกรรม การบริหารจัดการองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นต้น
“ขณะนี้การขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม4.0 ตามที่ประเทศไทยเสนอมีความคืบหน้าไปมากแล้วและหากทำได้สำเร็จ จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศสมาชิก 10 ประเทศอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างสินค้าและบริการทั้งหมด ตั้งแต่การเชื่อมต่อกระบวนการผลิต การสร้างเครือข่ายระหว่างร้านค้าและโรงงานผลิต รวมถึงระบบการขนส่งเข้าไว้ด้วยกัน เนื่องจากจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมทั้งไทยและประเทศสมาชิกมีขีดความสามารถแข่งขันที่สูงขึ้น” นายทองชัย กล่าว
นายทองชัย กล่าวต่อว่า ปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม4.0 โดยมีเป้าหมายให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง และสามารถแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการขับเคลื่อน 3 ด้าน คือ 1.เศรษฐกิจ นวัตกรรม เทคโนโลยี 2.การเติบโตอย่างมีส่วนร่วม และ3.การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยในส่วนของกรอ.ได้มีการพัฒนาระบบต่างๆ ที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรม4.0 หลายด้านแล้ว เช่น พัฒนาระบบการขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้บริการผู้ประกอบการสามารถได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานได้อย่างรวดเร็ว , การพัฒนาระบบการติดตามระบบมลพิษระยะไกล อาทิ เช่น BOD on line , CEMS รวมทั้ง ระบบการรายงานด้านความปลอดภัย เช่น สารเคมี หม้อน้ำ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาระบบพิจารณาอนุญาตนำกากอุตสาหกรรมออกนอกบริเวณโรงงาน หรือ สก.2 แบบอัตโนมัติผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์, การรายงานการระบายน้ำทิ้งออกจากโรงงาน เครื่องตรวจวัด ค่าBOD และเครื่องตรวจวัดค่าCODเข้ากับระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของกรมโรงงานฯ สำหรับโรงงานที่มีปริมาณน้ำทิ้งตั้งแต่ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวันขึ้นไป
ขณะเดียวกันยังมีระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติอย่างต่อเนื่อง, การบริการระบบอิเล็กทรอนิกส์ยังมีหลายระบบที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งสอดรับกับนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 ไม่ว่าจะเป็นระบบการนัดหมายล่วงหน้าทางอินเตอร์เน็ตของศูนย์บริการสารพันทันใจ, ระบบการดำเนินการอนุญาตเกี่ยวกับวัตถุอันตราย, ระบบขนส่งวัตถุอันตราย, ระบบติดตามอนุญาตโรงงาน ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสามารถติดตามเรื่องย้อนหลังได้ไม่เกิน 90 วัน นับจากวันที่ยื่นเรื่องผ่านบริการอิเล็กทรอนิกส์ของเว็บไซต์กรมโรงงานอุตสาหกรรม และระบบการรับรองตนเองของผู้ประกอบกิจการโรงงานเพื่อมาทดแทนการไม่ต่ออายุใบอนุญาตโรงงาน เป็นต้น
นายทองชัย กล่าวอีกว่า ขณะนี้กรอ.ยังได้ผลักดันโรงงานอัจฉริยะ หรือสมาร์ทแฟคเตอรี่ โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมมาใช้เพิ่มผลิตภาพให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ส่งเสริมให้มีการปรับปรุงการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและก่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนยังได้พัฒนายกระดับขีดความสามารถหม้อน้ำเข้าสู่โหมด SMART Factory ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี และสอดคล้องตามแนวคิด SMART4.0 โดยการขับเคลื่อนครอบคลุมใน 3 มิติสำคัญ ได้แก่ ด้านความปลอดภัย ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านประสิทธิภาพพลังงาน เช่น เครื่องจักรที่ใช้ต้องมีมาตรฐาน ด้านประสิทธิผลประสิทธิภาพ ด้านความปลอดภัย และด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้เครื่องจักรสามารถควบคุมได้ง่าย มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน มีระบบตรวจวัด ตรวจสอบ เพื่อการควบคุมใช้งาน และบำรุงรักษาที่ดี เป็นต้น
ขณะเดียวกันกรมโรงงานฯ ยังได้ขานรับนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม โดยได้ทำโครงการศึกษาเรื่องการกำจัดซากโซล่าเซลล์ควบคู่กับการผลักดันผู้ประกอบกิจการโรงงานสร้างโรงงานกำจัดซากโซล่าเซลล์ โดยคาดการณ์ว่าในปี 2563 จะมีปริมาณซากแผงโซลาร์เซลล์สะสมที่ต้องกำจัดประมาณ 550,000 ตัน หรือประมาณ 18 ล้านแผง โดยผู้ประกอบการหลายรายได้ให้ความสนใจในการตั้งโรงงานรีไซเคิลซากโซลาเซลล์ แต่เนื่องจากปัจจุบันยังมีจำนวนของซากแผงโซลาเซลล์ไม่มากนัก จึงยังติดตามสถานการณ์อยู่ ซึ่งคาดว่าอีก 5 – 10 ปีข้างหน้าเมื่อมีจำนวนซากโซล่าเซลล์มากขึ้นจะมีโรงงานประเภทนี้เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
------------------------------------------------------------ข้อมูลเพิ่มเติม---------------------------------------------------------
CEMS (Continuous Emission Monitoring System) หมายถึง เครื่องมือวัดและเครื่องวิเคราะห์รวมถึง ระบบเก็บข้อมูลเพื่อการตรวจวัดอากาศจากปล่องระบายในรูปความเข้มข้นได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีส่วนประกอบ สาคัญของระบบได้แก่ ระบบชักอากาศ (Sample Interface), ส่วนของการวิเคราะห์ (Analyzer) และ ส่วนของ การเก็บข้อมูล(Data Recorder)
COD (Chemical Oxygen Demand) คือ ปริมาณออกซิเจนที่สารเคมีใช้ในการย่อยสลายสารอินทรีย์ (COD) เป็นค่าที่วัดถึงปริมาณทั้งหมดของออกซิเจนที่ใช้โดยจุลินทรีย์ในการย่อยสลายสารอินทรีย์ (ที่ย่อยสลายทางชีวภาพได้และที่เป็นสารอินทรีย์เฉื่อย) ให้เป็นคาร์บอนไดออกไซต์และน้ำ รวมไปถึงสารอนินทรีย์ที่สามารถถูกออกซิไดต์ได้
BOD (Biochemical Oxygen Demand) คือ ปริมาณออกซิเจนที่จุลินทรีย์ใช้ในการย่อยสลายสารอินทรีย์ เป็นปริมาณของออกซิเจนที่ถูกใช้โดยจุลินทรีย์ในกระบวนการย่อยสลายสารอินทรีย์ที่อยู่ในน้ำ ค่าบีโอดี หรือ Biochemical Oxygen Demand (BOD)คือ ปริมาณของออกซิเจนที่ถูกใช้โดยจุลินทรีย์ในกระบวนการย่อยสลายสารอินทรีย์ที่อยู่ในน้ำ