นพ.พีระพงษ์ สายเชื้อ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังการประชุมติดตามการบริหารจัดการสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะคลองลาดพร้าว ว่า กทม.ได้กำหนดแนวเขตก่อสร้างโครงการก่อสร้างเขื่อนค.ส.ล.คลองลาดพร้าวและคลองสองฯ โดยยึดประสิทธิภาพการระบายน้ำ พร้อมทั้งกำหนดแนวร่นจากแนวเขตก่อสร้างซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินของกรมธนารักษ์ เพื่อจัดสรรเป็นที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนเรียบร้อยแล้ว เช่น บริเวณริมคลองในพื้นที่เขตจตุจักรมีระยะแนวร่นจากแนวเขตก่อสร้างประมาณ 12 เมตร ซึ่งเพียงพอสำหรับจัดสร้างที่อยู่อาศัย
ขณะที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ได้เข้าไปสนับสนุนชุมชนในการรวมกลุ่มจัดตั้งสหกรณ์ชุมชน เพื่อดำเนินการเช่าที่ดินกับกรมธนารักษ์สำหรับจัดสร้างที่อยู่อาศัย ซึ่งรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้แก่พม.กว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนรุกล้ำที่ได้รับความเดือดร้อนสามารถกู้ยืมสำหรับสร้างที่อยู่อาศัย ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เจรจาและทำความเข้าใจถึงความจำเป็นและประโยชน์ในการก่อสร้างโครงการฯ และการเคลื่อนย้ายชุมชน ซึ่งได้ข้อยุติแล้ว 40 ชุมชนจากจำนวนทั้งหมด 43 ชุมชน
ปลัดกทม. กล่าวต่อไปว่า ภายหลังจากลงนามในสัญญาจ้างแล้ว ผู้รับจ้างได้เตรียมความพร้อมพื้นที่การก่อสร้างและจะเริ่มก่อสร้างจุดแรก บริเวณศูนย์แพทย์พัฒนา ระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร ในวันที่ 10 ก.พ.59 โดยแบ่งการก่อสร้างเป็น 2-3 ช่วง ไม่ต่อเนื่องในพื้นที่ที่ไม่มีอุปสรรคในการรื้อย้ายชุมชน หากชุมชนได้ทยอยย้ายไปยังที่อยู่อาศัยใหม่แล้วจะสามารถก่อสร้างในพื้นที่ต่อเนื่องได้ต่อไป ในส่วนของแนวร่นจากแนวเขตก่อสร้างเขื่อน ซึ่งจัดสรรเป็นที่อยู่อาศัยนั้น แม้จะทำให้กทม.ต้องเสียพื้นที่ในการรับน้ำคลองลาดพร้าว ประมาณ 8 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หรือคิดเป็นพื้นดินที่กทม.ต้องจัดหาเป็นพื้นที่รับน้ำและแก้มลิงประมาณ 200 ไร่
“ทั้งนี้ ประชาชนจะได้มีที่อยู่อาศัยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันกทม.จะสามารถบริหารจัดการน้ำได้ดีขึ้นในระดับหนึ่ง และจากนี้ กทม.จะควบคุมให้มีระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนริมคลองทุกแห่ง อีกทั้งไม่ให้ปล่อยน้ำเสียลงคลองโดยตรง ซึ่งจะทำให้คุณภาพน้ำในคลองลาดพร้าวดีขึ้นต่อไป” นพ.พีระพงษ์ กล่าว