นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่าได้ลงนามความร่วมมือด้านการวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมกับดักยุง SCG Mosquito Trap และการพัฒนาสารดึงดูด (attractant) โดยมี ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ร่วมลงนาม โดย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีนโยบายส่งเสริมให้บุคลากรพัฒนานวัตกรรมเพื่อช่วยลดปัญหาโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคไข้เลือดออกที่เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกีและมียุงลายบ้านและยุงลายสวนเป็นพาหะ โดยในแต่ละปีมีผู้ติดเชื้อไวรัสเดงกีและป่วยเป็นไข้เลือดออกทั่วโลกประมาณ 50-100 ล้านคน ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคเอเชีย
สำหรับประเทศไทยนั้นในปี 2562 นี้ มีแนวโน้มที่จะเกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออกมากกว่า 5 ปีที่ผ่านมา โดยสถิติตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน 2562 มีรายงานผู้ป่วยกว่า 31,800 ราย เสียชีวิต 48 ราย ซึ่งเป็นอัตราป่วยและอัตราตายสูงมากกว่าปกติ ที่ผ่านมา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประสบความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมกับดักไข่ยุงลาย ลีโอแทรป (LeO-Trap) เพื่อใช้ในการล่อยุงลายให้มาวางไข่ในกับดักและกำจัดลูกน้ำยุงลายทั้งหมดที่ฟักออกมาจากไข่ ซึ่งนวัตกรรมนี้ได้รับรางวัลระดับประเทศในปี พ.ศ.2560 ถึง 2 รางวัล คือ รางวัล Platinum Award ถ้วยรางวัลพระราชทานจากกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และรางวัลเลิศรัฐจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กับดักดังกล่าวได้ออกวางจำหน่ายในเชิงพาณิชย์เรียบร้อยแล้ว โดยประชาชนสามารถซื้อหามาใช้ในการกำจัดยุงลายด้วยตนเอง นับว่าเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งที่ประชาชนมีความตื่นตัวในการป้องกันพาหะนำโรคด้วยตนเองโดยไม่ได้มุ่งหวังให้ภาครัฐมาดำเนินการให้เพียงอย่างเดียว
โดยที่ บริษัท เอสซีจี มีนโยบายด้านหนึ่งในการพัฒนาสังคมเกี่ยวกับสุขภาพของคนไทย และเล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อใช้ในการลดอุบัติการณ์ของโรคไข้เลือดออกในประเทศ จึงมีความสนใจในการวิจัยพัฒนานวัตกรรมกับดักยุง SCG Mosquito Trap เพื่อนำมาใช้ในการควบคุมโรคไข้เลือดออก โดยร่วมมือกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในการวิจัยและพัฒนากับดักดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพในการกำจัดลูกน้ำยุงลายที่ดียิ่งขึ้น
สำหรับการร่วมลงนามในสัญญาความร่วมมือด้านการวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมป้องกันการระบาดของโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลายและโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ระหว่างกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเอสซีจี เคมิคอลส์ ในครั้งนี้ เป็นการศึกษาวิจัยใน 2 ส่วน ได้แก่ การพัฒนากับดักยุง SCG Mosquito Trap และการพัฒนาสารดึงดูด (attractant) เพื่อใช้ล่อยุงลายให้มาวางไข่แล้วกำจัดลูกน้ำภายในกับดักโดยใช้สารชีวินทรีย์ ซึ่งจะทำให้ไม่มียุงลายในรุ่นถัดไป โดยมีการทดสอบประสิทธิภาพของกับดักยุงทั้งในระดับห้องปฏิบัติการ กึ่งภาคสนามและในภาคสนาม ก่อนนำไปเผยแพร่ต่อไป ทั้งนี้เพื่อลดการแพร่พันธุ์ของยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะสำคัญในการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในร้อยกว่าประเทศทั่วโลก