รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย( รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงหัวลำโพง–มหาชัย ระยะทาง 37 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 5.68 หมื่นล้านบาทว่า โครงการดังกล่าวยังอยู่ในแผนงานของ รฟท. โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการของบประมาณประจำปี 2563 เพื่อจ้างที่ปรึกษาทบทวนแบบรายละเอียดและจัดทำเอกสารประกวดราคา วงเงิน 90 ล้านบาท ระยะเวลาศึกษาประมาณ 16 เดือน เพื่อดำเนินการออกแบบการก่อสร้างใหม่ในส่วนเฉพาะที่มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ภายในปี 2564
ทั้งนี้ การออกแบบก่อสร้างใหม่นั้น อาจจะปรับแผนการดำเนินงานโดยออกแบบเป็นอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อมต่อระหว่างหัวลำโพง–วงเวียนใหญ่ก่อน และก่อสร้างเป็นทางวิ่งระดับดินและยกระดับตั้งแต่วงเวียนใหญ่–มหาชัย ซึ่งโครงการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการเชื่อมต่อโครงข่ายโครงการรถไฟฟ้า (BTS) สายสีเขียว ช่วงสะพานตากสิน–บางหว้า โครงการรถไฟฟ้า (MRT) สายสีม่วง ช่วงเตาปูน–ราษฎร์บูรณะ และเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่แยกท่าพระได้ และเป็นผลทำให้มีโครงข่ายที่สมบูรณ์ ดังนั้น กระทรวงคมนาคมจึงขอยืนยันจะดำเนินโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงหัวลำโพง–มหาชัย ให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็วต่อไป
สำหรับโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงหัวลำโพง – มหาชัยนั้น เป็นส่วนหนึ่งของโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงการรถไฟฟ้า 10 เส้นทาง ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข.ได้เคยศึกษาความเหมาะสมไว้เมื่อปี 50 โดยเสนอให้ทำการปรับปรุงทางรถไฟสายแม่กลองเดิม จากสถานีหัวลำโพงไปยัง อ.มหาชัย จ.สมุทรสาคร และสามารถเชื่อมต่อไปยัง จ.สมุทรสงคราม ที่สถานีปากท่อในระยะต่อไป โดยในการศึกษาฯ ของ สนข. ได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.แผนการพัฒนาทางรถไฟให้เชื่อมต่ออย่างสมบูรณ์จากหัวลำโพงถึงมหาชัยก่อน และ 2.การพัฒนาศูนย์คมนาคมขนส่งตากสิน เพื่อเป็นการขยายเขตการให้บริการรถไฟชานเมืองและระบบขนส่งมวลชน
ทั้งนี้ โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงหัวลำโพง – มหาชัย จะเป็นรถไฟฟ้าชานเมืองที่มีรูปแบบ (Commuter Train) มีระบบจ่ายไฟเหนือหัว (Catenary) สามารถทำความเร็วได้สูงสุด 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเร็วกว่าระบบจ่ายไฟรางสาม (Third Rail) ที่ใช้กันอยู่ในโครงข่ายของรถไฟฟ้าในเขตเมืองที่ทำความเร็วสูงสุดได้แค่ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จึงมีความเหมาะสมที่จะเป็นรถไฟชานเมือง และสามารถต่อระยะทางให้ยาวขึ้นได้
ด้านนายศุภฤกษ์ สุดยอดประเสริฐ หัวหน้ากลุ่มมาตรฐานโครงสร้างพื้นฐาน และหัวหน้ากลุ่มมาตรฐานระบบการเดินรถและสิ่งอำนวยความสะดวก กองมาตรฐานความปลอดภัยและบำรุงทาง กรมการขนส่งทางราง กล่าวภายหลังลงพื้นที่เส้นทางรถไฟสายมหาชัย-วงเวียนใหญ่ บริเวณใต้สะพานถนนราชพฤกษ์ แขวงตลาดพลู เขตธนบุรี กทม.ว่า การลงพื้นที่ดังกล่าว เพื่อศึกษาจุดเชื่อมต่อระหว่างรถไฟสายวงเวียนใหญ่-มหาชัย กับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส วุฒากาศ (ทางออกที่ 1 และ 2) ที่มีระย่างห่างกันประมาณ 150 เมตรเท่านั้น โดยได้สำรวจความเหมาะสมในการติดตั้งป้ายหยุดรถไฟบริเวณใต้สะพานถนนราชพฤกษ์ และไฟส่องสว่าง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการเดินทางด้วยระบบการขนส่งทางราง
“รถไฟสายวงเวียนใหญ่-มหาชัย มีระยะทางประมาณ 33 กิโลเมตร มีสถานีรถไฟ 5 แห่ง ได้แก่ สถานีวงเวียนใหญ่ ตลาดพลู วัดสิงห์ รางโพธิ์ และมหาชัย ป้ายหยุดรถไฟ 6 แห่ง และที่หยุดรถไฟ 7 แห่ง ให้บริการเดินรถไป-กลับ วันละ 34 เที่ยว ค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 3 บาท สูงสุด 10 บาท ซึ่งที่ผ่านมาประชาชนที่โดยสารรถไฟสายมหาชัย-วงเวียนใหญ่จะไปต่อรถไฟฟ้าบีทีเอส ต้องลงรถไฟที่สถานีรถไฟตลาดพลู แล้วเดินเท้าไปยังสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ตลาดพลู ระยะทางประมาณ 1 กม. และถ้าลงสถานีรถไฟวงเวียนใหญ่ จะเดินเท้าไปยังสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส วงเวียนใหญ่ ก็มีระยะทาง 1 กม.เช่นกัน” นายศุภฤกษ์ กล่าว