นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เป็นประธานเปิดการสัมมนาเรื่อง “โอกาสในการเข้าถึงงานลิขสิทธิ์สำหรับคนพิการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ณ โรงแรมริชมอนด์ สไตล์ลิช คอนเวนชั่น จังหวัดนนทบุรี โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน เจ้าของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา นักวิชาการ และนักเขียนผู้พิการทางสายตาที่มาแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ร่วมกันเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561 ประกอบกับประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การใช้ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อประโยชน์ของคนพิการ พ.ศ. 2562 และคู่มือการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์เพื่อประโยชน์ของคนพิการ
การสัมมนาดังกล่าวมีการอภิปรายหัวข้อ “No one left behind : ยกระดับลิขสิทธิ์สู่สากลเพื่อประโยชน์ของคนพิการ” โดยได้รับเกียรติจาก ดร. นันทนุช สุวรรนาวุธ นักวิชาการ ผู้แทนสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยให้มุมมองเกี่ยวกับประโยชน์ของประเทศไทยในการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญามาร์ราเคช เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงงานที่มีการโฆษณาแล้ว สำหรับคนตาบอด คนพิการทางการเห็น และคนพิการทางสื่อสิ่งพิมพ์ อันจะเป็นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงงานลิขสิทธิ์รวมทั้งข้อมูลความรู้ทางศิลปวิทยาการสำหรับคนพิการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาในหัวข้อ “ Inclusive Society : การเข้าถึงงานลิขสิทธิ์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ซึ่งร่วมถ่ายทอดประสบการณ์โดยนักเขียนชื่อดังเจ้าของเพจ “Narissa Journal การเดินทางของความสุข” และผู้พิการทางสายตาที่มีความรู้ความสามารถในด้านการจัดทำสื่อการเรียนการสอนสำหรับคนพิการ ครูไอซ์ อาจารย์สอนภาษาอังกฤษผู้พิการทางสายตา และนักเขียนเจ้าของผลงาน “จนว่า/เด็กปิดตา/จะโต” ซึ่งเป็นผู้พิการทางสายตา โดยเน้นย้ำให้เห็นว่าสังคมไทยเป็นสังคมสำหรับทุกคน หรือ “Inclusive Society” เพื่อให้ทุกคนได้รับโอกาสในการเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์อย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
การสัมมนาในครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากผู้ที่เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน โดยมีผู้เข้าร่วมการสัมมนากว่า 100 คน ซึ่งจะเป็นโอกาสอันดีในการถ่ายทอดความรู้และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน เพื่อให้สามารถบังคับใช้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561 ได้อย่างถูกต้องตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย อันเป็นประโยชน์ต่อคนพิการในการเข้าถึงงานลิขสิทธิ์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน