นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ันที่นมา ผู้ประกอบการแจ้งให้กรมโรงงานฯขณะนี้กรอ. ได้แจ้งเตือนไปยังโรงงานขนาดใหญ่ที่มีกำลังเครื่องจักรกว่า 1000 แรงม้า ที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครประมาณ 567 แห่ง ให้เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยภายในโรงงาน และบริเวณโดยรอบโรงงาน และแจ้งเตือนสถานประกอบการวัตถุอันตรายในกรุงเทพฯ 140 แห่งขอให้ระมัดระวังและเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยสถานที่เก็บรักษาวัตถุอันตรายเป็นพิเศษ ตามนโบบายของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ให้หน่วยงานต่างๆ ในสังกัด เตรียมแผนป้องกันและการรับมือกับผลกระทบจากสถานการณ์เหตุความไม่สงบ และเหตุระเบิดในกรุงเทพมหานครหลายจุด ตั้งแต่วันที่ 1-2 สิงหาคม ที่ผ่านมา
“ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมมีความเป็นห่วงเรื่องนี้อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานที่สามารถส่งผลกระทบในวงกว้างต่อประชาชน เช่น โรงกลั่นน้ำมัน และโรงงานเคมีภัณฑ์ เป็นต้น พร้อมทั้งกำชับให้มีการเพิ่มความเข้มงวดเป็นพิเศษในการตรวจสอบผู้ผลิต และผู้นำเข้าวัตถุอันตราย ที่สามารถนำไปใช้เป็นองค์ประกอบทำวัตถุระเบิดได้ด้วย โดยในส่วนของวัตถุอันตรายนั้นทาง กรอ.ได้แจ้งเตือนสถานประกอบการที่มีวัตถุอันตรายในกรุงเทพฯ ขอให้ระมัดระวังและเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยสถานที่เก็บรักษาวัตถุอันตราย” นายทองชัย กล่าว
นอกจากนี้สถานประกอบการวัตถุอันตรายต้องเพิ่มมาตรการเข้มงวดในการป้องกันการลักลอบจำหน่ายหรือนำวัตถุอันตรายไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ รวมถึงขอให้เข้มงวด เพื่อไม่ให้ผู้ไม่หวังดีมาดำเนินการให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่สถานที่เก็บรักษาวัตถุอันตรายของผู้ประกอบการด้วย อย่างไรก็ตามหากผู้ประกอบการมีปัญหาเกี่ยวกับการจัดเก็บรักษาวัตถุอันตรายหรือความไม่ปลอดภัยใดๆ ขอให้ผู้ประกอบการแจ้งให้กรมโรงงานฯ ทราบเป็นการด่วน เพื่อที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาต่อไป
นายทองชัย กล่าวต่อว่า ในส่วนของการเตรียมการรับมือกับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบในพื้นที่กรุงเทพฯ ของหน่วยงานอื่นๆ ที่สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมก็ได้สั่งการให้ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งเตือนโรงงานในพื้นที่ต่างจังหวัดทั่วประเทศ อีกทั้งยังสั่งการให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ประสานไปยังโรงงานที่อยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ในการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยภายในโรงงานและบริเวณรอบโรงงาน รวมถึงเพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบผู้ผลิตและนำเข้าวัตถุอันตราย ที่สามารถนำไปใช้ทำเป็นวัตถุระเบิด พร้อมทั้งให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) แจ้งเตือนผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ ทำการตรวจสอบและควบคุมการใช้วัตถุระเบิดในเหมืองแร่ โดยให้มีการใช้วัตถุระเบิดเฉพาะในพื้นที่ที่ได้รับการอนุญาตเท่านั้น และให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) สำรวจและประเมินผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเชิงภาพรวมในทางเศรษฐกิจ เป็นต้น