จากกรณีข้อพิพาทระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม ครอบคลุม 17 คดี มีการเจรจาลดมูลค่าข้อพิพาทจาก 137,517 ล้านบาท เหลือ 58,873 ล้านบาท เพื่อแลกกับการต่ออายุสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 และทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด 30 ปี ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะต้องส่งแนวทางการดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบแล้วนั้น
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่าได้ตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหากรณีการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จะขยายสัมปทานทางด่วนให้กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เพื่อยุติทุกข้อพิพาท โดยมอบหมายให้นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานคณะทำงาน โดยให้คณะทำงานไปพิจารณาตั้งแต่ผลการศึกษาของโครงการ, การกำหนด TOR, การปฏิบัติตามสัญญา โดยกำหนดกรอบเวลาให้ได้ข้อสรุปภายใน 15 วัน จากนั้นจะสรุปแนวทางเพื่อนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. พิจารณาต่อไป
อย่างไรก็ตามตนได้ลงนามแต่งตั้งคณะทำงาน 3 ชุด ได้แก่ คณะทำงานแก้ไขปัญหาถนนพระราม 2 โดยได้มอบหมายให้นายชยธรรม์ พรหมศร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)เป็นประธาน เพื่อพิจารณาและเร่งรัดโครงการที่เกิดความล่าช้า พร้อมหาแนวทางการแก้ไขปัญหา และหาข้อสรุปก่อนเสนอให้กรมทางหลวง (ทล.) ไปดำเนินการ ทั้งนี้ได้กำหนดกรอบเวลาให้ได้ข้อสรุปภายใน 15 วันนับจากนี้
นายศักดิ์สยามกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังได้ลงนามคำสั่งตั้งคณะทำงานแปลงนโยบายของกระทรวงคมนาคมไปสู่หลักการดำเนินการ โดยมีตนเป็นประธาน ซึ่งคณะทำงานชุดนี้ จะประกอบด้วย ปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ จะจัดให้มีการประชุมขึ้นในสัปดาห์ เพื่อพิจารณานโยบายแก้กฎกระทรวงคมนาคม เพื่อขยายอัตราจำกัดความเร็วบนถนน 4 ช่องจราจรทั่วประเทศ ที่สามารถใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 120 กม./ชม. โดยในส่วนของ 2 ช่องจราจรด้านขวาสุดจะกำหนดความเร็วในการขับขี่ห้ามต่ำกว่า 80-120 กม. เท่านั้น
พร้อมพิจารณานโยบายการอนุญาตให้รถขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกให้มาวิ่งบนถนนทางหลวงในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้ในช่วงเวลา 00.00-04.00 น. ก่อนที่จะสรุปและเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.)ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อบังคับใช้ตามกฎหมายต่อไป