นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้ข้อตกลงร่วมกันทั้งแท็กซี่และกระทรวงคมนาคม โดยกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้ตัวเลขค่าจ้างที่ยอมรับได้ทั้งสองฝ่าย โดยปัจจุบันค่าโดยสารที่แท็กซี่เสนอมาระยะทาง 1 กิโลเมตรแรก 35 บาท ระยะทางกิโลเมตรที่ 1 – 10 เพิ่ม 50 สตางค์ เป็น 6.5 บาท ตัวเลขนี้ทาง ขบ. ศึกษาพบว่าเป็นอัตราที่เพ่มขึ้นจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิง ส่วนระยะทางเกินหว่ากิโลเมตรที่ 10 – 20 ปรับจาก 6.5 บาท เป็น 7 บาท กิโลเมตรที่ 20 – 40 ปรับจาก 7.5 บาท เป็น 8 บาท กิโลเมตรที่ 40 – 60 ปรับจาก 8 บาท เป็น 8.5 บาท กิโลเมตรที่ 60 – 80 อยู่ที่ 9 บาท และระยะทางเกินกว่า 80 กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 10.50 บาท
นอกจากนี้ จากปัญหาการเข้าระบบแท็กซี่ OK ซึ่งข้อร้องเรียนของทางกลุ่มแท็กซี่ ระบุว่าขอให้ภาครัฐยกระดับคุณภาพมาตรฐาน นำเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่เข้ามาใช้งาน ขณะนี้ตนได้สั่งการให้ ขบ. เข้าไปเร่งพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อตอบโจทย์การใช้งานของกลุ่มผู้ให้บริการแท็กซี่ เพื่อให้แท็กซี่ยอมเข้าระบบที่ตรวจสอบได้ พร้อมทั้งตนยังขอให้ยกเลิกโครงการแท็กซี่ OK ที่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าสู่ระบบเดือนละ 350 – 400 บาท เพราะเป็นภาระค่าใช้จ่ายของกลุ่มแท็กซี่
“อัตราค่าโดยสารใหม่นี้ เป็นข้อตกลง ที่ตกลงร่วมกันระหว่างกระทรวงฯ ขบ.และผู้ให้บริการแท็กซี่ ถือเป็นอัตราที่ทุกคนเห็นพร้องกัน ก็ขอให้ทาง ขบ.ไปเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด ทำแอพพลิเคชั่นใหม่ให้เสร็จภายใน 1 เดือน เร็วกว่าเดิมที่ผมเคยกำหนดไว้ 3 เดือน ส่วนการประกาศค่าโดยสาร จะประกาศหลังจากที่แอพพลิเคชั่นแล้วเสร็จ เพื่อให้ทุกระบบสาธารณะตรวจสอบกันได้หมด โดย ขบ.จะต้องไปจัดหาคนมาพัฒนาระบบนี้ หลังจากนั้นแท็กซี่ OK ก็จะไม่มีแล้ว”
นายศักดิ์สยาม ยังกล่าวอีกว่า ในการประชุมครั้งนี้ ยังได้พิจารณาข้อเรียกร้องของแท็กซี่ เรื่องค่าบริการรถติด กรณีรถไม่สามารถเคลื่อนที่หรือเดินรถต่อไปได้เกินกว่า 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะขยายค่าบริการจากเดิม 2 บาทต่อนาที และแท็กซี่ VIP ได้ 3 บาทต่อนาที ให้ปรับให้อยู่ในอัตราเดียวกันที่ 3 บาทต่อนาที
ส่วนกรณีข้อเสนอขอขยายอายุรถรับจ้างสาธารณจาก 9 ปี เป็น 12 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งปัจจุบันรถมีราคาสูงขึ้น ทาง ขบ.ไม่ขัดข้อง แต่จะกำหนดรถแท็กซี่ที่จะให้บริการต้องมีมาตรฐาน ตรวจสภาพทุก 3 เดือน ถ้าคุณภาพเป็นไปตาม ขบ.กำหนดก็สามารถให้บริการได้ แต่ถ้าไม่ถึง ต้องหยุดให้บริการทันที ไม่ว่าจะอายุรถยนต์กี่ปีก็ตาม เพื่อให้ความปลอดภัยกับประชาชน พร้อมทั้งขอให้พี่น้องประชาชนช่วยกันตรวจคุณภาพรถแท็กซี่ พร้อมแจ้งรายละเอียดเข้ามาที่ ขบ.ด้วย
นอกจากนี้ การขอให้ปรับเปลี่ยนกฎในการจดทะเบียนเป็นแท็กซี่ VIP เดิมกำหนดต้องเป็นนิติบุคคลเท่านั้น จะแก้ไขให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าได้หมด แต่ต้องเอามาตรฐานเป็นตัวตั้ง กำหนดด้วยอุปกรณ์ และจำนวนแรงม้า เช่น รถแท็กซี่ VIP อาจจะต้องมีเครื่องยนต์ไม่น้อยกว่า 100 กิโลวัตต์ (110 แรงม้า) ต้องเป็นรถที่ให้บริการอายุใช้งานไม่เกิน 2 ปี หรือ 2 หมื่นกิโลเมตร เป็นต้น ถ้าผ่านก็สามารถเป็นแท็กซี่ VIP ได้
ขณะที่ การเก็บค่าบรรทุกวัสดุหรืออุปกรณ์ที่มีขนาดใหญ่ ที่จะต้องมีค่าบริการ Surcharge สำหรับแท็กซี่มิเตอร์ที่ให้บริการในท่าอากาศยาน มีข้อเรียกร้องขอปรับในส่วนของรถขนาดปกติ จากเดิม 50 บาท เป็น 70 บาท และรถขนาดใหญ่จากเดิม 70 บาท เป็น 90 บาท พร้อมขอค่าขนส่งสัมภาระ ขนาด 25 นิ้วขึ้นไป คิดชิ้นที่ 3 ชิ้นละ 20 บาท โดยเรื่องนี้ทาง ขบ.จะประสานไปยัง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.เพื่อประกาศและติดให้เป็นมาตรฐาน โดยส่วนตัวเชื่อว่ารถแต่ละประเภทจะสามารถขนสัมภาระได้ไม่เกิน 6 ชิ้น
“ประเด็นสุดท้าย จากการหารือครั้งนี้ แท็กซี่ยอมให้พัฒนาระบบแท็กซี่ด้วยดิจิทัล เพื่อให้บริการรถสาธารณะทั้งหมดอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน ไม่ปฏิเสธการแก้กฎหมาย เพื่อให้รถแท็กซี่มีมาตรฐานเดียวกัน ขั้นตอนหลังจากนี้ ขบ. ต้องเร่งดำเนินการทำแอพพลิเคชั่นเพื่อนำแท็กซี่เข้าระบบ”