นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การแพทย์แม่นยำ ซึ่งใช้ฐานเทคโนโลยี ของจีโนมมนุษย์เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งในการพัฒนาประเทศตามแนวทางไทยแลนด์ 4.0 โครงการ Genomics Thailand ได้ถูกตั้งขึ้น ในปี พ.ศ.2561 เป็นความร่วมมือระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) แพทยสภาแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่ายภาควิชาการจากสถาบันการศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งการริเริ่มดังกล่าวมุ่งประโยชน์ที่จะนำเทคโนโลยีจีโนมมนุษย์ (human genome technology) มาใช้ในการจัดการปัญหาทางสุขภาพและ ความอยู่ดีกินดีของประชากรไทย โดยแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย พ.ศ.2563-2567 ได้รับมติเห็นชอบ จากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2562 และได้รับอนุมัติงบประมาณการดำเนินงานวงเงินกว่า 4,570 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นผู้นำการแพทย์จีโนมิกส์ของอาเซียนภายใน 5 ปี
ในแผนปฏิบัติการบูรณการจีโนมิกส์ ประเทศไทย ประกอบด้วย มาตรการในการนำเทคโนโลยีทางพันธุศาสตร์ก้าวหน้า มาใช้ในทางการแพทย์ ซึ่งเป็นการลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันโรค วินิจฉัยโรค และดูแลผู้ป่วย อันจะนำมาสู่การ ลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างมาก รวมทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร และการให้บริการใน medical hub
ซึ่งที่ผ่านมา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และภาคีเครือข่าย ได้ดำเนินการแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย ในการพัฒนาเทคโนโลยีการถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์ที่เรียกว่าจีโนมิกส์ โดยจะทำการสุ่มตรวจรหัสพันธุกรรมคนไทย จำนวน 50,000 คน มุ่งเน้นศึกษาพันธุกรรมเสี่ยงในผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยโรคที่หายาก ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ผู้ป่วยที่แพ้ยากันชัก และเภสัชพันธุศาสตร์ พร้อมจัดทำฐานข้อมูลพันธุกรรมอ้างอิงของชาวไทยและพัฒนาระบบการบริหารจัดการและแปลผลข้อมูลพันธุกรรม นับเป็นการสนับสนุนให้เกิดการ วินิจฉัย ป้องกัน และรักษาผู้ป่วยได้อย่างแม่นยำตามแนวทางการแพทย์แม่นยำ ยกระดับการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ พร้อมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศเพื่อเพิ่มโอกาสการแข่งขันในธุรกิจด้านบริการทางการแพทย์และนวัตกรรมสุขภาพ