ดีป้าปลื้ม ผู้ประกอบการในพื้นที่ EEC ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างโอกาส และเพิ่มศักยภาพธุรกิจอย่างต่อเนื่อง แนะนำแอปพลิเคชันสุขสมบูรณ์ นวัตกรรมดิจิทัลเพื่อบริหารจัดการสร้างสวนปาล์ม ด้วย Big Data ปั้นต้นแบบเกษตร 4.0 ผ่านมาตรการช่วยเหลือและอุดหนุน depa Digital Transformation Fund
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า ดีป้าให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในเชิงพื้นที่ระดับเมือง ตลอดจนระดับชุมชนท้องถิ่น โดยมุ่งเน้นการนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลมาขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจในชุมชน ใน 6 ด้าน คือ ด้านการพัฒนาด้านการเกษตรอัจฉริยะ, ด้านการพัฒนาสุขภาพสุขภาวะที่ดีของชุมชน, ด้านการสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของชุมชน ด้านการตลาดดิจิทัลและกระบวนการผลิตในระดับชุมชน, ด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน และด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมในชุมชน
ทั้งนี้ จากมาตรการส่งเสริมต่างๆ ของดีป้าจะมีบทบาทการสนับสนุนให้เกิดการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลไปปรับใช้จริง และเกิดการนำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลผสมผสานเข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่นมาเกิดเป็นนวัตกรรมที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของแต่ละชุมชน และจากยุคสมัยที่เปลี่ยนไป จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นที่ต้องนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจ และเพื่อยกระดับคุณภาพ มุ่งสร้างความเท่าเทียม ลดช่องว่างทางสังคม พร้อมสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในหลากหลายมิติ
“บริษัท สุขสมบูรณ์น้ำมันปาล์ม จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายน้ำมันปาล์มและน้ำมันไบโอดีเซล ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี หนึ่งในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ดีป้าได้เล็งเห็นความตั้งใจของบริษัท สุขสมบูรณ์น้ำมันปาล์ม จำกัด ที่ต้องการยกระดับธุรกิจโรงงานสู่ดิจิทัล ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร จึงได้ร่วมสนับสนุนและส่งเสริม ผ่านมาตรการช่วยเหลือ หรือการอุดหนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อภาคธุรกิจอุตสาหกรรม (depa Digital Transformation Fund) ในระยะ T2 หรือเพื่อการยกระดับธุรกิจนั่นเอง”
“โดยได้ร่วมกันค้นหาผู้ผลิตซอฟต์แวร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเขียนโปรแกรม มาช่วยพัฒนาแพลตฟอร์มที่จะช่วยให้ชาวสวนปาล์มซึ่งเป็นผู้ผลิตระดับต้นน้ำ บริหารจัดการและเก็บข้อมูลพื้นที่สวนของตนเองได้ โดยที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน ซึ่งจากการบันทึกข้อมูลของชาวสวนปาล์มอย่างละเอียด โดยเกษตรกรสามารถบันทึกข้อมูลได้เป็นรายต้น ซึ่งได้นำระบบ GPS เข้ามาปรับใช้ในแอปพลิเคชันด้วย เพื่อให้ระบุตำแหน่งของต้นปาล์มได้อย่างแม่นยำ แพลตฟอร์มนี้จะช่วยให้รวบรวมข้อมูลได้มากพอที่จะนำมาใช้ในการวิเคราะห์ในมิติต่างๆ” ผอ.ดีป้า กล่าว