กระทรวงดิจิทัลฯ ปักหมุด ต.ค.นี้ เปิดตัวศูนย์ต้านข่าวปลอม พร้อมจัดทำช่องทางรับแจ้งและชี้แจงผ่านเว็บไซต์ เพจเฟซบุ๊ก และไลน์ มั่นใจเพิ่มความรวดเร็วในการตรวจสอบและสกัดการแพร่กระจายข้อมูลเท็จได้ใน 1-2 ชั่วโมง พร้อมตอบรับพฤติกรรมการสื่อสารของไลฟ์สไตล์ยุคดิจิทัล
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ในการประชุมนัดแรกเมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อหารือแนวทางการจัดตั้ง “คณะกรรมการประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอมที่กระทบต่อความปลอดภัย ในชีวิตและทรัพย์สินประชาชน” นั้น ในระยะแรกจะดึงตัวแทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกว่า 25 หน่วยงาน โดยเฉพาะตัวแทนจากสมาคมภาคสื่อสารมวลชน ประชาสังคม มหาวิทยาลัย และผู้ที่มีความสนใจและมีการทำงานเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาข่าวปลอมต่างๆ เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการ โดยมีนางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ เป็นประธานกรรมการ และนาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงฯ เป็นรองประธานกรรมการ
ทั้งนี้ในการหารือ มีหัวข้อหลัก ได้แก่ 1. การหารือเกี่ยวกับกรอบการจัดตั้งศูนย์ และกรอบการทำงาน ว่าจะรับผิดชอบเนื้อหาในกลุ่มใดบ้างที่กระทบสังคมไทยโดยรวม 2. รูปแบบการทำงานของศูนย์ฯ ซึ่งจะเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน และการสื่อสารข้อมูลที่ชัดเจน ถูกต้องกับประชาชนทันทีที่ได้รับการตรวจสอบยืนยันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการแชร์ข้อมูลที่ถูกต้องออกไป ลดการแพร่กระจายของข่าวปลอม หรือข้อมูลเท็จได้ในเวลารวดเร็วขึ้น
โดยกระทรวงฯ ตั้งเป้าว่าการจัดตั้งศูนย์จะเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม ภายในเดือนตุลาคมนี้ พร้อมกับเปิดช่องทางเว็บไซต์ ไลน์ และเพจเฟซบุ๊กของศูนย์ฯ เพื่อสื่อสารแบบ 2 ทางกับประชาชน ทั้งการรับแจ้งข่าวปลอม/ข้อมูลเท็จ และชี้แจงข้อมูลถูกต้องที่ผ่านการตรวจสอบยืนยันแล้วจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับข่าวนั้นๆ ช่องทางสื่อสารเหล่านี้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคปัจจุบัน อีกทั้งสามารถดูย้อนหลังได้สำหรับข่าวที่มีการยืนยันข้อมูลที่ถูกต้อง (verify) แล้ว สามารถเอาไปแชร์ต่อ ช่วยกันเป็นเครือข่ายในการขยายผลได้ ดังนั้นน่าจะได้รับความนิยมจากผู้แจ้งข้อมูล และนำข้อมูลที่ถูกต้องไปแชร์ต่อในวงกว้างอย่างรวดเร็ว
โดยตั้งเป้าความรวดเร็วในการตรวจสอบข่าวปลอม และชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้อง จะทำได้ในเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง และภายใน 3 เดือนแรกของการจัดตั้งศูนย์ฯ จะตรวจสอบยืนยันให้ได้ภายใน 1 - 2 ชั่วโมง ทั้งนี้ จะมีการขอรายชื่อบุคคลที่ติดต่อได้ (Contact Person) อย่างน้อย 2 คน ที่สามารถติดต่อได้ตลอด 24 ชั่วโมง จากทุกหน่วยงานราชการ เพื่อร่วมยืนยันข้อมูลในเบื้องต้น เชื่อว่าจะเป็นแนวทางที่ปิดจุดอ่อนปัญหาเฟคนิวส์ จากเดิมที่กว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อจะชี้แจงต้องใช้เวลาเป็นวัน ซึ่งความเสียหายผ่านโซเชียลแพร่กระจายไปแล้ว
ขณะเดียวกัน แพลตฟอร์มโซเชียลระดับโลกต่างก็มีมาตรฐานสากลในเรื่องการตรวจสอบข่าวปลอมอยู่แล้ว ดังนั้น นอกเหนือจากทำงานด้านนี้เองในไทย ถ้าเราสามารถทำได้ในระดับมาตรฐานนั้น ก็จะได้รับความร่วมมือจากเจ้าของแพลตฟอร์มระดับโลกต่าง ๆ โดยแสดงการยืนยันข้อมูลที่ถูกต้องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการ สื่อโซเชียลยักษ์ใหญ่ ก็จะ link ข้อมูลเข้าไป และขึ้นให้ว่าเป็นข่าวปลอม ซึ่งก็จะช่วยสกัดการแพร่กระจายในวงกว้างได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย
นายพุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า ยังได้มีการหารือเบื้องต้นกับบริษัท ไลน์ (Line) เพื่อหาแนวทางความร่วมมือที่ศูนย์ฯ แห่งนี้จะมีการเปิด Line Official เพื่อให้สามารถเข้าถึงคนได้จำนวนมากหลักล้านคน เพิ่มประสิทธิภาพในการรับแจ้งข้อมูลข่าวปลอม ซึ่งผู้บริหารของไลน์ ก็ยินดีที่จะสนับสนุน เพราะเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมใช้งานจากคนไทยอย่างมาก และที่ผ่านมามีข่าวปลอมแพร่กระจายผ่านช่องทางนี้ในระดับหนึ่ง ซึ่งการทำงานร่วมกันจะเป็นประโยชน์ได้ทั้งสองฝ่าย